สพฉ.เตรียมรณรงค์การใช้เครื่อง AED เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 2015 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผนึกหน่วยงานเอกชนเตรียมติดตั้งในพื้นที่สาธารณะพร้อมฝึกอบรมประชาชน ชูหลัก 3H ในการช่วยเหลือ ชี้หากผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการช่วยเหลือเร็ว และมีเครื่อง AED ที่ครอบคลุมจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมารณรงค์อย่างต่อเนื่องถึงการเรียนรู้ขั้นตอนของห่วงโซ่การรอดชีวิต เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการกู้ชีพให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน หัวใจหยุดเต้นฉียบพลันนอกโรงพยาบาล โดยสิ่งที่สำคัญของกระบวนการกู้ชีพ คือ การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ด้วยเพราะข้อจำกัดหลายประการ อาทิ อุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาสูง แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่ สพฉ. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนจากหลายองค์กร บริจาคเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ จำนวนหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนต่อไป สพฉ. จะนำเครื่องดังกล่าวไปติดตั้งให้กับหน่วยงานและพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะ ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของผู้มาใช้บริการ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล สพฉ. จึงได้เตรียมการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมการติดตั้งและการฝึกใช้เครื่อง AED ในสถานที่ที่มีโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฉุกเฉินดังกล่าว เพื่อให้เครื่อง AED ได้ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในประเทศญี่ปุ่นได้มีการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะ ที่มีความเสี่ยงได้แก่ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร สนามบิน บนเครื่องบิน บนรถไฟ สนามแข่งขันวิ่งมาราธอน สนามกีฬาที่มีคนจำนวนมาก สนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หน่วยบริการของราชการ สถานที่สำคัญ รวมทั้งโรงงานที่มีคนงานจำนวนมาก และสถานที่ท่องเที่ยวที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้พบสถิติอัตราการรอดชีวิตของประชาชนมากขึ้นถึง 45 เปอร์เซ็นต์เมื่อได้ใช้เครื่องดังกล่าว ดังนั้นถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้มีการเรียนรู้เรื่องการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยล่าสุด สพฉ.ก็ได้จัดอบรมเรื่องการใช้เครื่อง AED ให้กับชมรมจักรยานและอาสาสมัครจักรยานกู้ชีพจำนวน 35 คน เพื่อให้เรียนรู้ถึงกระบวนการใช้เครื่อง AED ในการกู้ชีพ อย่างไรก็ตามการใช้เครื่อง AED ในประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นประชาชนที่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องดังกล่าวในการกู้ชีพควรดำเนินการช่วยเหลือภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือคำแนะนำจากผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 นพ.อนุชา การช่วยชีวิตผู้เข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องตระหนักถึงหลัก “3H” คือ 1.Hazard ก่อนการช่วยเหลือผู้ช่วยเหลือควรตรวจสอบอันตรายหรือภาวะเสี่ยงก่อนโดยจะต้องดูว่าบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่นั้นมีอะไรอันตรายบ้างที่จะมีผลกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน 2. Help คือการช่วยเหลือโดยโทรผ่านสายด่วน 1669 พร้อมทั้งทำการปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และ 3. Hello คือการเข้าไปปลุกเรียกผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองจากการช่วยเหลือตามแนวทางสามH แล้วให้ผู้เข้าให้การช่วยเหลือทำการฟื้นคืนชีพทันทีและรีบนำเครื่องAED เข้ามาช่วยในการฟื้นคืนชีพก็จะทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นได้ สำหรับเครื่อง AED เป็นเครื่องมือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบอิเล็กทรอนิกส์พกพา ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ได้รับการฝึกฝนการใช้ก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ ภายใต้คำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งานของเครื่อง AED เครื่องก็จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องได้ โดยการรักษานั้นระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจะออกคำสั่งให้เราเป็นผู้ปฏิบัติตามได้ คือเริ่มแรกผู้ที่ทำการช่วยเหลือจะต้องเปิดฝาเครื่อง AED และฉีกซองบรรจุอิเล็คโทรด โดยแผ่นอิเล็คโทรดจะมีอยู่ 2 ชิ้น คือ ชิ้นแรกจะต้องนำไปติดบนทรวงอกตอนบนของผู้ป่วย และแผ่นที่สองจะต้องติดบนผิวทรวงอกตอนล่างของผู้ป่วย จากนั้นเครื่อง AED จะทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งขณะนี้ห้ามผู้ที่ช่วยเหลือสัมผัสตัวผู้ป่วยเด็ดขาด จากนั้นเมื่อเครื่องวินิจเสร็จเสร็จแล้วจะขึ้นสัญญาณให้ทำการช็อคไฟฟ้า ให้ผู้ช่วยเหลือกดที่ปุ่มช็อคตามสัญญาณที่ปรากฏอยู่บนตัวเครื่อง และสลับกับการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพผู้ป่วยหรือCPR อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง โดยการช่วยเหลือควรทำภายใน 3-5 นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ