สศอ. คาดการณ์ความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยใน 3 ปีข้างหน้า เน้น 5 อุตสาหกรรมหลักที่มีการจ้างงานสูง คาดปี ’58 สามารถใช้วางแผนกำลังคนภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 24, 2015 12:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ สศอ. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ประเมินการความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ระบบ LEED-X+ แลกเปลี่ยนข้อมูลอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และแรงงาน ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถประเมินความต้องการแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับแนวโน้มโครงสร้างประชากรไทยมีอัตราการเกิดต่ำ และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากแนวโน้มความต้องการแรงงานในสาขาการผลิตต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น และภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน เพื่อให้สามารถมีข้อมูลในการวางแผนกำลังคนภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สศอ. ได้ประเมินการความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และแรงงาน (LEED-X+) ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูล ส่งถ่ายข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูล ที่มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้ข้อมูลในระบบ LEED-X+ มีข้อมูลพื้นฐานด้านแรงงาน ครอบคลุมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของทั้งภาครัฐและเอกชน และสามารถที่จะคาดการณ์ความต้องการแรงงานไปข้างหน้าได้ จากการคาดการณ์ในเบื้องต้น ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558 – 2560) ความต้องการแรงงานใน 5 สาขาอุตสาหกรรมหลักที่มีการจ้างงานสูง ดังนี้ สาขาอุตสาหกรรม ความต้องการแรงงาน(คน) 1. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 430,000 2.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 470,000 3.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 1,310,000 4.อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ 173,000 5.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 885,000 จากข้อมูลเบื้องต้น สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังคงมีความต้องการแรงงานอย่างมาก ซึ่งในหลายภาคการผลิตได้อาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนความต้องการแรงงาน ประกอบกับแนวโน้มของโครงสร้างประชากรไทยที่มีอัตราการเกิดต่ำ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีมาตรการในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกระยะ โดยใน ระยะสั้น มี 2 มาตรการ คือ 1) ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพทักษะฝีมือแก่แรงงานใหม่ก่อนเข้าทำงาน หรือกำลังจะเข้าสู่การทำงานให้มีความรู้ ความสามารถในการทำงาน หรือมีสมรรถนะเพิ่มขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพ และสอดคล้องกับความต้องการกับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งลดปัญหาความไม่สอดคล้องของแรงงานกับความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) เนื่องจากตลาดขาดแคลนแรงงานมีฝีมือและประสบการณ์ โดยเฉพาะแรงงานช่างระดับอาชีวะ ในขณะที่แรงงานจบใหม่ส่วนใหญ่นิยมการศึกษาระดับปริญญาตรี และ 2) สนับสนุนโรงงาน/สถานประกอบการมีส่วนร่วมในนโยบายส่งเสริม Talent Mobility ที่ได้รับการผลักดันจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากนโยบายดังกล่าวส่งเสริมให้บุคลากร/นักวิจัยของหน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน โดยบุคลากร/นักวิจัยจะได้สัมผัสกับการปฏิบัติจริงและได้พบปัญหา สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่นักศึกษา ในขณะที่ภาคเอกชนจะได้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมทำวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ สำหรับ ระยะกลางและระยะยาว ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1) เพิ่มประสิทธิภาพหรือความสามารถของแรงงาน ทั้งทางตรงคือการอบรมเพิ่มทักษะและการศึกษา และทางอ้อมโดยการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยผู้ประกอบการไทยจะต้องยกระดับการผลิต เปลี่ยนจากการพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก มาเป็นแรงงานที่มีความชำนาญด้านเครื่องจักร เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น 2) สนับสนุนให้มีการลงทุนใน 3 ด้านคือ การลงทุนในเครื่องจักร การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการลงทุนพัฒนาแรงงานด้านทักษะและการศึกษา เพื่อสร้างแรงงานที่มีผลิตภาพสูงและสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และ 3) ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เพื่อลดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้านกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสาขาที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในเทคโนโลยีเครื่องจักรและแรงงาน และมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน นายอุดมกล่าวเพิ่มเติมว่าฐานข้อมูลที่ สศอ. ใช้ในระบบ LEED-X+ ณ ปัจจุบัน เป็นฐานข้อมูลในปี 2554 – 2555 โดยในปีงบประมาณ 2558 สศอ. จะดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบ LEED-X+ เพื่อให้มีความทันสมัยและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถพยากรณ์ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้ละเอียดชัดเจนรอบด้าน สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลด้านแรงงานที่สมบูรณ์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในการวางแผนงาน และดำเนินธุรกิจต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ