กรมสุขภาพจิต ชวน ชูพลังใจ เติมความสดใสให้ออทิสติก คาด เด็กไทยป่วยออทิสติก กว่า 3.7 แสน รักษาเร็ว ได้ผลเร็ว

ข่าวทั่วไป Friday April 10, 2015 12:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 2 เม.ย.58 กรมสุขภาพจิต โดย รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จัดงานรณรงค์เนื่องในวันออทิสติกโลก ประจำปี 2558 ในหัวข้อ “Light it up blue ชูพลังใจ เติมความสดใส ให้ออทิสติก” ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยออทิสติก มีประมาณ 3.7 แสนคน สัญญาณเตือน ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว แนะ พ่อแม่ เข้าใจ ยอมรับ รักษาเร็ว ได้ผลเร็ว พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผอ.รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก ซึ่งปัจจุบัน พบว่า โรคออทิสติกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากรายงานการสำรวจของประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2553 พบว่า ความเสี่ยงของการเป็นโรคออทิสติกมีถึง 1 ต่อ 88 คน ล่าสุด ปี พ.ศ.2557 มีโอกาสพบ 1 ต่อ 68 คน และจากการสำรวจอย่างเป็นทางการของประเทศไทย คาดว่าความเสี่ยงน่าจะไม่ต่างจากในระดับโลกมากนัก ประมาณการณ์ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติกประมาณ 370,000 คน ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบได้ทั้งคนจนและคนรวย เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษา และ พฤติกรรม สังเกตพบได้ก่อนอายุ 3 ขวบ สัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ผอ.รพ. กล่าวต่อว่า ออทิสติกเป็นโรคที่มีความหลากหลายทางอาการมาก เด็กบางคนดูก็รู้ว่าเป็น แต่บางคนดูไม่ค่อยชัด หลายครั้งก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนในการพบครั้งแรก ต้องอาศัยการเฝ้าติดตามอาการและพฤติกรรมหลายๆ ครั้งเพื่อให้แน่ใจ และหาข้อมูลจากหลายที่ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กที่เด็กเข้าไปเรียน เส้นแบ่งระหว่างความเป็นโรคกับความผิดปกติเป็นเส้นบางๆ ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ยิ่งเห็นมากจะยิ่งเข้าใจโรคมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายจัดบริการเข้าถึง เพิ่มการตรวจคัดกรองหาภาวะออทิสติกในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well child clinic) ซึ่งให้บริการฉีดวัคซีนและติดตามพัฒนาการเด็กหลังคลอดทุกคนจนถึงอายุ 5 ปี โดยให้ตรวจเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป เนื่องจากหากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย อีกทั้ง กรมสุขภาพจิตเองก็มีนโยบายในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของผู้พิการทางจิตใจ สติปัญญา การเรียนรู้ และ ออทิสติกอย่างเป็นองค์รวม พัฒนา แนวทางการดูแลทางสังคมจิตใจแก่ผู้พิการทางกายในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่เครือข่ายผู้ปกครอง ผู้ดูแลผู้พิการทางจิตใจฯ รวมทั้งชุมชนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ขั้นพื้นฐานของผู้พิการทางจิตใจฯ เพื่อให้ผู้พิการทางจิตใจฯ ได้รับการฟื้นฟูด้านสังคม ผ่านเครือข่ายดูแลสุขภาพ ตลอดจนสามารถดูแลกันเองได้ พญ.รัชนี ได้ย้ำว่า โรคนี้สามารถรักษาได้ ซึ่งการรักษาของแพทย์ และการเปิดใจยอมรับของครอบครัวที่ ไม่มองเด็กออทิสติกว่าเป็นส่วนเกินของครอบครัว และสังคม พร้อมจะทุ่มเท และสู้ไปด้วยกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เด็กออทิสติกมีโอกาสในการรักษา และสร้างพื้นที่ในสังคมเพิ่มขึ้น การเข้าใจและให้โอกาสกับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ ย่อมช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ซึ่งพวกเราทุกคน ทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง แพทย์ และครู มีส่วนช่วยในการชูพลังใจ เติมความสดใส สร้างแสงสว่างเพื่อเพิ่มความหวังให้กับพวกเขาได้เพราะพวกเขาเหล่านี้ก็มีหัวใจที่ต้องการคนเข้าใจเช่นกัน และในปัจจุบัน มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคออทิสติกอย่างแพร่หลาย เมื่อหลายคนเข้าใจและยอมรับ ก็ส่งผลให้พ่อแม่พาลูกมาตรวจเร็วขึ้น ผลการรักษาก็จะดีขึ้น อย่างรวดเร็ว หลายครอบครัว พบว่า ลูกมีพัฒนาการใกล้เคียงเด็กปกติมาก ซึ่งสมองของเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 5 ขวบจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารีบแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้อย่างดี เด็กออทิสติกหลายคนสามารถพัฒนาได้จากไม่พูดหรือพูดภาษาที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ จนสามารถสื่อสารได้ดี ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี ไม่มีพฤติกรรมซ้ำๆ เด็กออทิสติกหลายคนสามารถเรียนจบปริญญาและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบว่า ยังมีครอบครัวที่ยังไม่ยอมรับ ไม่เชื่อว่าลูกมีปัญหา จึงไม่พามาฝึก บางครอบครัวรู้สึกเสียใจ ผิดหวังที่ลูกตัวเอง ไม่ปกติ คิดแต่ว่าทำไมลูกต้องเป็นแบบนี้ หมดกำลังใจที่จะพามาฝึกหรือกระตุ้นพัฒนาการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้เสียโอกาสในการพัฒนาและมักพบว่าพวกเขาจะกลับมารักษาเมื่ออายุมากแล้ว ซึ่งจะยิ่งทำให้ยากมากขึ้นในการฝึกและกระตุ้นพัฒนาการ ผู้ปกครองสามารถสังเกตพบอาการออทิสติกได้ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 3 ปี หรือเริ่มสังเกตอาการได้ชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 1 ขึ้นไป อาการหลักๆ คือพัฒนาการช้าใน 3 ด้าน เช่น1.ด้านสังคม เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ 2.ด้านภาษาเช่น เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งวัน และ 3.ด้านพฤติกรรม เช่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำๆ ซึ่งหากเด็กมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ผอ.รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ