ไตรมาสแรก ปี 58 ลีสซิ่งกสิกรไทยชะลอตามเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 29, 2015 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ธนาคารกสิกรไทย ธุรกิจลีสซิ่งไตรมาสแรก 58 ยังฝืดตามตลาดรถยนต์ ชี้กำลังซื้อไม่ฟื้นจากสินค้าเกษตรราคาตก หนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลสินเชื่อใหม่ยังถดถอย แต่สินเชื่อผู้แทนจำหน่ายเริ่มฟื้นตัว ยอดสินเชื่อคงค้างยังเป็นบวก บริษัทลีสซิ่งเริ่มหันปล่อยกู้สินเชื่อรถแลกเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าคาดปีนี้จะโต 15-18% ลีสซิ่งกสิกรไทยไตรมาสแรกกำไร 70 ล้านบาท ได้เกินเป้าหมาย 32.65% นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยใน 3 เดือนแรกปีนี้ ยอดขายรวมยังลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว รายได้เกษตรกรทรงตัวในระดับต่ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อ ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่งผลต่อธุรกิจลีสซิ่งชะลอตัวลงตามภาวะตลาดรถยนต์โดยรวมของประเทศด้วย สำหรับ ผลการดำเนินการบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัดในไตรมาสแรกปี 58 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ ได้ 15,161 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว 1.15% แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ 7,688 ล้านบาท ลดลง 9.42% และเป็นสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) 7,473 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสแรกปีก่อน 9.12% ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบ (Loan Outstanding) ของบริษัท อยู่ที่ 89,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 682 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 0.77% โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.21% ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2558 ของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย มีกำไร 70 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว38.15%เนื่องจากบริษัทฯได้มีการตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2558 คาดว่าจะปรับตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย หลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2557 ด้วยฐานเปรียบเทียบที่สูงในปี 2556 จากปัจจัยหลักโครงการรถคันแรกที่ทำให้เกิดแรงซื้อล่วงหน้าจำนวนมาก ซึ่งยังต้องรอเวลาให้ความต้องการรถใหม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ปัจจัยเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงในช่วงต้นปี 2558 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายรถยนต์ใหม่เช่นกัน ด้วยยอดขายที่ลดลง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของบริษัทลีสซิ่งจะส่งผลให้บริษัทสินเชื่อของผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ (Captive) หันมากระตุ้นการขายด้วยการจัดไฟแนนซ์รถของตน ภายใต้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยและการผ่อนชำระที่เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ซื้อมากขึ้น ขณะเดียวกัน การปรับฐานที่ลดต่ำลงอย่างแรงในปี 2557 เป็นผลมาจากตลาดสินเชื่อรถใช้แล้วที่เริ่มนิ่งในช่วงไตรมาสที่ 4/2557 ทำให้คาดว่าปี 2558 ตลาดสินเชื่อรถใช้แล้ว น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำ และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ด้านตลาดรถแลกเงิน ณ สิ้นปี 2557 ขยายตัวประมาณ 13.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ใกล้เคียงกับที่ขยายตัว 12.5% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเบื้องต้น เดือนมกราคม 2558 ยอดคงค้างสินเชื่อตลาดรถแลกเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 15,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2557 ซึ่งเป็นสัญญาณที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านราคารถใช้แล้วที่เริ่มนิ่ง ทำให้บริษัทลีสซิ่งมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อรถแลกเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนดี จึงคาดว่าสินเชื่อตลาดรถแลกเงินในปี 2558 น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 15-18% เป็นประมาณ 6.7-6.9 แสนล้านบาท เทียบกับ 5.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 นายสุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าตลาดรถยนต์ปี 2558 นี้ น่าจะมีสภาพที่ซบเซาไม่ต่างจากปีก่อน และมีผลทำให้ค่ายรถต่างๆ อาจจะต้องปรับประมาณการยอดขายรถยนต์ลงไปต่ำกว่าที่เคยมองอยู่ที่เหนือระดับ 900,000คัน ในช่วงต้นปี โดยประเภทรถที่อาจได้รับผลกระทบมาก คือ รถยนต์อีโคคาร์ และรถกระบะ (ยกเว้น Double Cab) สำหรับยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนของตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 พบว่ายังมีการขยายตัวดีมากถึงกว่า 40% เมื่อเทียบกับปี 2557 ทำให้มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ตลอดทั้งปี 2558 และยังมองว่าน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 10% เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งจะทำให้ตลาดมีการแข่งขันและคึกคักมากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้บริโภคทั้งในแง่ของทางเลือกที่มีมากขึ้น ทั้งรูปแบบรถจักรยานยนต์และราคา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ