สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประกาศมาตรฐานชุดข้อมูล Open Government Data ระดมหน่วยงานรัฐเข้าโครงการนำร่อง หวังเปิดชุดข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจไปใช้งานต่อได้จริง ปีนี้ประเดิม 50 ชุดข้อมูล พร้อมแนวทางปฏิบัติทุกขั้นตอน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 27, 2015 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ นายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประธานเปิดงานสัมมนา Open Government Data Conference 2015 เปิดเผยว่า อย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น การส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำข้อมูลซึ่งถือเป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มจึงนับเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ตั้งแต่ระดับนโยบายจนไปสู่การบริการสาธารณะ โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะเปิดเผยและสามารถเข้าถึงได้บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถนำไปประมวลผลต่อในทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสะดวก จึงเกิดกระบวนการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวยให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ Open data ขึ้น โดยที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้ริเริ่มเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเข้าโครงการ Open Government Data หรือโครงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อให้ประชาชนและองค์กรธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะนี้ EGA ได้สร้างข้อกำหนดการเผยแพร่ และได้เร่งประชุมกับหน่วยงานภาครัฐหลักๆ กว่า 150 หน่วยงาน เพื่อสร้างชุดข้อมูลนำร่องมากกว่า 50 ชุดข้อมูลให้เสร็จภายในปีนี้ ผ่าน Data.go.th ให้ประชาชนและกลุ่มองค์กรธุรกิจสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ โดย Data.go.th ได้มีการกำหนดระดับการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพิจารณาถึงการนำไปใช้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เรียงลำดับจาก 1 - 5 ดาว ซึ่งระดับ 5 ดาวนั้นอยู่ในระดับการเปิดเผยข้อมูลแบบสูงสุด โดยมีรายละเอียดแต่ละระดับดังนี้ 1 ดาว คือการเผยแพร่ข้อมูลในทุกรูปแบบบนเว็บไซต์ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาอนุญาต Open License,2 ดาว คือเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Structured data ที่เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-readable) เช่น ข้อมูลอยู่ในรูปแบบไฟล์ Excel, 3 ดาว คือเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Non-proprietary format เช่น ข้อมูลในรูปแบบ CSV แทนรูปแบบ Excel, 4 ดาว คือการใช้ URI (Uniform Resource Identifier) ในการระบุตัวตนของข้อมูล และชี้ไปยังตำแหน่งของข้อมูลนั้น และ5 ดาว นั้นข้อมูลจะต้องมีการเชื่อมโยงไปสู่แหล่งข้อมูลอื่นๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้องกันได้ “การเผยแพร่ชุดข้อมูลบน Data.go.th จะกำหนดรูปแบบข้อมูลที่จะเผยแพร่อย่างน้อยระดับ 3 ดาว หมายถึง ข้อมูลจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาอนุญาต Open License เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-readable) และไม่มีผู้ใดถือครองกรรมสิทธิ์ (Non-proprietary) นั่นคือรูปแบบของ Comma-Separated Value (CSV) หรือ Open Document Spreadsheet (ODS) เป็นอย่างน้อย” ดร.ศักดิ์กล่าว ในส่วนของขั้นตอนและกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลนั้น จะเริ่มจากการจัดการของหน่วยงานเจ้าของข้อมูล จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน OGD ของหน่วยงานขึ้นมา ต่อจากนั้นต้องคัดเลือกชุดข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ โดยคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน OGD ของหน่วยงานจะต้องพิจารณาคัดเลือกข้อมูลของหน่วยงาน ทั้งนี้ควรจะต้องพิจารณาชุดข้อมูลที่มีคุณค่าสูง (High-value datasets) หรือเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้อย่างแพร่หลายและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยคณะกรรมการ OGD จะต้องพิจารณาชุดข้อมูลที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงความเป็นส่วนตัว (Privacy) และการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Security) เมื่อได้ชุดข้อมูลที่คัดเลือกแล้วต้องต้องมีการจัดเตรียมหรือแปลงชุดข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่มาตรฐานกำหนด รวมถึงการจัดทำคำอธิบายชุดข้อมูลนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของข้อมูล เช่น วัตถุประสงค์ ขอบเขต วันที่เผยแพร่ ความถี่ในการปรับปรุงและเผยแพร่ แหล่งที่มาของข้อมูล เป็นต้น เสร็จแล้วจึงนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่ หลังจากนั้นหน่วยงานจะต้องกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 ช่องทาง คือ นำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน, นำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่ผ่าน Data.go.th โดยในระยะแรก หน่วยงานสามารถส่งชุดข้อมูลพร้อมคำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) ให้กับ EGA ผ่านทางศูนย์บริการลูกค้า ในระยะถัดไป หน่วยงานสามารถนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่บนData.go.th โดยจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อสมัครขอใช้บริการผ่านระบบยืนยันตัวบุคคลกลาง (OpenID Service) ในส่วนของศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ เมื่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูลนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่บน Data.go.th ซึ่งเป็นพอร์ทัลกลางในการเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐ โดยชุดข้อมูลทั้งหมดจะต้องมีคำอธิบาย (Metadata) และจะต้องในรูปแบบที่กำหนดไว้ ในส่วนของผู้ใช้ข้อมูลถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลที่หน่วยงานได้เผยแพร่ผ่านช่องทางในการแสดงความคิดเห็นและการร้องขอข้อมูลที่ต้องการได้ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคนั้น จะช่วยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงช่วยให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ