มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร คว้ารางวัลยอดเยี่ยมกระทิงแดง ยู-โปรเจค ปี 2

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2015 13:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร บ้านแวง ตั้งอยู่ในตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปลูกต้นมะเขือเทศบนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ถือเป็นอาชีพหลัก เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลทำนาปี เกษตรกรก็หันมาปลูกต้นมะเขือเทศกันมากขึ้นด้วย โดยมีบริษัทเอกชนให้การสนับสนุนในการปลูกและเข้ามารับซื้อผลผลิตดังกล่าวถึงในชุมชน มะเขือเทศ จึงเป็นผลผลิตหลักของเกษตรกรตำบลแวง ในการปลูกมะเขือเทศแต่ละครั้ง เกษตรกรจำเป็นต้องหาซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อนำมาเพาะปลูก และการซื้อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จำเป็นจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทจะเป็นผู้จัดหามาจำหน่ายให้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตตรงตามสายพันธุ์ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ได้ถูกพัฒนามาแล้ว และมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ อีกทั้งเกษตรกรยังต้องซื้อปุ๋ยและยาจากบริษัทผู้ผลิตทั้งหมด อีกทั้งต้องใช้ในปริมาณที่มากเพื่อให้พืชสามารถให้ผลผลิตตามต้องการ เกษตรกรยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มคือค่าปุ๋ยและยา ทำให้เกษตรกรต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสารเคมีที่ใช้ในระยะการปลูกมะเขือเทศ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันยังส่งผลให้ปริมาณผลผลิตต่ำลงอีกด้วย อาจารย์ปริญญา กิตติสุทธิ์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้นักศึกษากลุ่ม SKC Team เกิดแนวคิดที่จะรวบรวมเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่สามารถเก็บไว้เพาะปลูกได้ทุกปี เพื่อลดต้นทุนการผลิตในการการซื้อเมล็ดพันธุ์จากภาคเอกชน จึงได้ถือกำเนิดโครงการ “คลังเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มเกษตรกรตำบลแวง จังหวัดสกลนคร” และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาเกษตรกรรม จากโครงการกระทิงแดง ยู-โปรเจค ปี 2 จัดโดย บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด อีกทั้งนักศึกษายังได้ฝึกฝนการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.ปริญญา กล่าวต่อว่ากิจกรรมในโครงการจะประกอบด้วย 7 กิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมหาแนวร่วม เป็นกิจกรรมการแนะนำตัวของกลุ่มนักศึกษาที่จะลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้าน โดยเราร่วมกิจกรรมนันทนาการกับลูกหลานของชาวบ้าน ชักชวนเขาเข้ามาร่วมเล่นเกม สร้างความคุ้นเคยและเป็นการดึงดูดผู้ปกครองให้มาสนใจในกิจกรรมดังกล่าว 2.การจัดเวทีเสวนา เป็นการนำเสนอบริบทการทำการเกษตรวิถีชาวบ้าน ต.แวง โดยตัวแทนเกษตรกร ต.แวง และการทำการเกษตรโดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน โดย คุณโจน จันได หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม โจน บ้านดิน การให้ความรู้เรื่องการทำพันธุ์ข้าวเพื่อการขยายพันธุ์ โดย คุณสันติ เชื้อนิตย์ นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน กรมการข้าว ปิดท้ายด้วยการนำงานวิจัยมาบูรณาการร่วมกับเกษตรกรพื้นบ้าน โดยอาจารย์กนกกาญจน์ วรวุฒิ จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีชาวบ้าน ต.แวง ร่วมเสนอแลกเปลี่ยนความรู้การทำเกษตร 3.แสดงการเก็บผลผลิต / เมล็ดพันธุ์ นำเสนอการใช้งานเครื่องแยกเมล็ดพันธุ์ และรูปแบบการเก็บรักษาให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยนักศึกษากลุ่ม SKC Team 4.ตลาดนัดเมล็ดพันธุ์ คือการจัดตลาดนัดเพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรมาวางจำหน่ายและแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตร 5.การสร้างกลุ่มเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการผ่าน Social Network กลุ่ม SKC Team จะต่อยอดกิจกรรมให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจทำการเกษตรและปลูกพืชจากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และสร้างเพจเพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และสร้างกิจกรรมผ่านโลกออนไลน์ 6.จัดทำฐานข้อมูลเมล็ดพันธุ์ เพื่อเป็นการเก็บรวบรวมสายพันธุ์ผัก และจำนวนที่เกษตรกรเก็บ เพื่อที่จะสะดวกในการนำมาแลกเปลี่ยน 7.การสรุปการดำเนินโครงการ จะทำการสรุปผลกิจกรรมตามดัชนีที่กำหนด เพื่อสามารถปรับปรุงและแก้ไขกิจกรรมได้ถูกต้อง ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้กลุ่ม SKC Team มีความประสงค์ที่จะให้เกิดความมีส่วนร่วมเพื่อยังประโยชน์สู่ความยั่งยืนของโครงการต่อไป “วอร์ม” นายปวีณวัช โสสุทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี กล่าวว่าตอนแรกพวกเราหวังเพียงว่าเกษตรกรจะมีเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แต่สิ่งที่พวกเราได้กลับมามากกว่านั้น คือความสุขใจเมื่อเห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่สนุกสนาน เกษตรกรทุกคนให้ความเป็นกันเอง แบ่งปันความรู้ด้านภูมิปัญญา และยังให้ความเชื่อใจ ความไว้ใจ เห็นพวกเราเป็นเหมือนลูกหลานที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด สิ่งเหล่านี้หาได้ในห้องเรียนธรรมชาติมันสุขใจอย่างบอกไม่ถูกครับ “บอล” นายเกรียงไกร พิมดา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่าขั้นตอนการทำงานที่ยากที่สุดคือการลงพื้นที่ในช่วงแรก พวกเราต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อใจและยอมรับกลุ่มเรา เราไปบ่อยครับ หากิจกรรมไปทำร่วมกับชาวบ้าน ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ ชาวบ้านหลายคนมีภูมิความรู้เยอะ ทำให้เราได้ไอเดียใหม่ๆ มาประกอบการทำงานและสุดท้ายชาวบ้านก็เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปทำงาน และในระหว่างทำงานเราเจอปัญหามากมาย ทั้งสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย การนัดหมายกับชาวบ้าน และการติดต่อสื่อสารกับชาวบ้าน แต่อาจารย์ปริญญา ก็ช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้และผ่านไปได้ด้วยดี จากการทำงานครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับคนในชุมชน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่สำคัญรู้จักวินัยในการทำงานมากขึ้นครับ “น้ำตาล” นางสาวปิยวรรณ อินทรพานิชย์ นักศึกษาชั้นปืที่ 2 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการเข้ารวมโครงการกระทิงแดงยู-โปรเจคในครั้งนี้ คือได้เพื่อนต่างมหาวิทยาลัย เข้าใจขั้นตอนการเขียนโครงการ และกระบวนการทำงานกลุ่ม ความประทับใจในการทำโครงการครั้งนี้คือความสามัคคีความช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่ม แม้จะอยู่คนละคณะ แต่เราก็สามารถทำงานร่วมกันได้ ทุกคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยกันอย่างดี แม้ว่าเราจะเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่มแต่พวกเราไม่เคยทอดทิ้งกัน จะถามไถ่และพูดคุยกันทุกเรื่องทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียน โดยเฉพาะเวลาที่มีปัญหาจากการทำงาน ทำให้งานของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีค่ะ โครงการ “คลังเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มเกษตรกรตำบลแวง จังหวัดสกลนคร” คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากโครงการกระทิงแดง ยู-โปรเจค ปี 2 จากบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับเงินรางวัลรวม 60,000 บาท ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้กับนักศึกษาที่มุ่งมั่นในการหาความรู้นอกห้องเรียน กอปรกับเป็นการบูรณาการความรู้จาก 2 คณะ คือคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และคณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร นักศึกษาและอาจารย์ทั้ง 2 คณะ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกับชาวบ้านใกล้เคียงถือเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงาน ซึ่งการได้ทำงานร่วมกับคนในชุมชนคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยตระหนักและให้ความสำคัญมาตลอด อ.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ