กูรูแนะ ภาคธุรกิจไทยยกระดับด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเหนือมาตรฐาน ปรับทัศนคติ พร้อมสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อก้าวไกลใน AEC

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2015 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนของประเทศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม เร่งความพร้อมสู่การเปิดเสรีของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในงานเสวนาเปิดตัวโครงการ "ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" ระยะที่ 3 ภายใต้หัวข้อ "ปรับกระบวนทัศน์อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลใน AEC" ซึ่งจัดโดย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ไทย-สหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อการผงาดเป็นหนึ่งในผู้นำ AEC เสริมสร้างความแข็งแกร่งของพันธมิตร นายชุตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า สังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน เป็นสิ่งที่ประเทศมหาอำนาจต่างก็กำลังจับตามอง ในภูมิภาคอาเซียนที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 600 ล้านคนนี้ มีการลงทุน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกัน 10 ประเทศ อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.22 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดย 17% นั้น เป็นการลงทุนภายในประเทศอาเซียนด้วยกันเอง "การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก เรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะแต่ละประเทศยังยึดติดในความเป็นประเทศเขาประเทศเราอยู่ เราต้องใส่ความเป็นอาเซียนให้มากขึ้น เราต้องคิดว่าเราเป็นหุ้นส่วนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการพัฒนาร่วมกัน" นายชุตินทร กล่าว ขณะที่ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่บนจุดศูนย์กลางของอาเซียน ในขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีศักยภาพ ทว่าสิ่งสำคัญคือความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือความร่วมมือระหว่างประเทศก็ตาม "เราต้องคิดว่าเป้าหมายใหญ่คือการนำพาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของ AEC ภาครัฐเอกชนควรร่วมมือกัน ผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ทั้งด้านการค้าด้านบริการ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และประเทศไทยต้องปรับกระบวนทัศน์ในการทำธุรกิจ โดยแทนที่จะมองว่าประเทศเพื่อนบ้านคือคู่แข่ง อาเซียนควรคิดว่าเราคือตลาดและฐานการผลิตเดียว นอกจากนี้ เราควรมีความพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง" รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าว ตอบโจทย์ด้านธุรกิจและความยั่งยืนไปพร้อมกัน ด้านนายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการที่ดาวเป็นบริษัทด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งตั้งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าแค่ระดับประเทศหรือภูมิภาค "เราเชื่อว่าประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น จาก 6 พันล้านเป็น 8.3 พันล้าน และเมื่อประชากรทั่วโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ความต้องการอุปโภคบริโภคจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50% การใช้พลังงานก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากสูงขึ้นอีกถึง 45% เมื่อถึงเวลานั้น เราจะหาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดได้อย่างไร เราจะหาแหล่งน้ำสะอาดที่ไหนมาใช้เพื่อการบริโภค ดาว จึงได้พยายามตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลก ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกให้น้อยที่สุดด้วยการนำโซลูชั่นจากนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เพราะหากเราสามารถคิดค้นสิ่งที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ในขณะที่สิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ เราเองก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน" ดาว เชื่อว่าคำตอบของการทำธุรกิจแบบยั่งยืนก็คือวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นตัวแปรหลักที่ตอบโจทย์ด้านความต้องการที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เป้าประสงค์สูงสุดของ ดาว คือ จะทำอย่างไรให้การดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนบนโลกเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ดาว จึงได้มีการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจแบบยั่งยืนที่ชัดเจนมากมาตั้งแต่ปี 2538 โดยเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2548 จะปรับเปลี่ยนและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้คนของ ดาว ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และอาชีวอนามัยเป็นประการสำคัญ นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า "พอย่างเข้าปี 2548 เราก็ตั้งเป้าหมายต่อไปอีกสิบปีข้างหน้า ซึ่งก็คือปี 2558 โดยขยายขอบข่ายความยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก นั้นก็คือการส่งต่อความยั่งยืนไปยังลูกค้าของเรา ผ่านผลิตภัณฑ์และการบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การที่เราสามารถใช้ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของเรา ประกอบกับการทำงานร่วมกันกับลูกค้า ในการพัฒนาระบบที่ทำให้ผู้คนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ที่ขาดแคลนน้ำ สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดได้ เช่นการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ในแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น" ปัจจุบัน ดาว มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 6,000 รายการที่จำหน่ายอยู่ในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานทั้งหมด 35 แห่งในเอเชีย และมีโรงงานทั้งหมด 41 โรงงาน ใน 12 ประเทศ และการที่ ดาว เติบโตได้อย่างมั่นคง ก็เพราะการทำธุรกิจแบบยั่งยืน "ดาวไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าเพียงลำพังได้ หากบริษัทคู่ค้าไม่แข็งแรง ฉะนั้น สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีความแข็งแกร่ง ด้วยการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ SMEs ใส่ใจด้านทรัพยากรและหลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม การเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในภาคส่วนต่าง ๆ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้พวกเขาได้เห็น หลักการตรงนี้ก็คือการทำให้ทั้งซัพพลายเชนมีความสมบูรณ์แข็งแรง" ฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย แนะสร้างวิสัยทัศน์ที่ไกลกว่า AEC นายบัญชา ชุมชัยเวท ผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียง ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลสำคัญหลายท่านในภูมิภาคอาเซียน พบว่า แม้การเข้าสู่ AEC ในปลายปีนี้จะเป็นประเด็นที่คนไทยให้ความสำคัญมาก แต่หลายประเทศในอาเซียนกลับมองไปไกลกว่านั้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้ามากกว่า "เราให้ความสำคัญกับการเกิด AEC แต่บางประเทศอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ กลับเริ่มมองไปถึงปี 2573 แล้ว ถ้าเราต้องการจะผงาดในอาเซียน เราต้องมองไกลกว่าความเป็น AEC เช่น การตั้งเป้าที่ครอบคลุมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เป็นต้นเพราะหากอาเซียน บวกเข้าไปกับประเทศที่เหลือในเอเชียอีกหกประเทศ (จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์) ก็จะเป็นภูมิภาคที่มีคนครึ่งโลกอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นตลาดที่อเมริกาเหนือก็อยากผูกมิตร ภูมิภาคที่จีนเองก็พยายามที่จะสร้างฐานอำนาจด้านการเมืองและการค้า" ยกระดับมาตรฐานภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้าน ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ภาคเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงทางด้านพื้นดิน รวมไปถึงสถานการณ์ด้านสารเคมีและขยะ และธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ด้านมลพิษข้ามแดน ที่ประเทศต่างๆ ต้องช่วยกันแก้ไข "สิบประเทศอาเซียนนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก แต่ก็กำลังเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ที่แม้ว่าทรัพยากรมาก แต่ก็มีประชากรมากเช่นกัน ซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากรมหาศาล นับเป็นความท้าทายระหว่างประเทศ ที่อาเซียนควรผนึกกำลังกันแก้ปัญหา" ดร.ขวัญฤดี กล่าว ดร.ขวัญฤดี ยังเผยต่อว่า หากไทยต้องการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สิ่งที่ควรยึดถือคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงกันของภาคสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ การที่ทรัพยากรมีจำกัด สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งให้ความสำคัญก็คือการทำงบด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังควรนำหลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Lean Management for Environment) มาใช้ และต้องเข้าใจการให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ภาระที่เพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เพื่อให้องค์กรสามารถยกระดับมาตรฐานของตนได้ หากประเทศไทยจะก้าวไกลใน AEC ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องพัฒนาให้สูงกว่าระดับมาตรฐาน หรือ beyond- standard ซึ่งจะเป็นคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับประเทศไทยในการเข้าถึงตลาดยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เช่น การได้รับการรับรองฉลากเขียว ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ "ปัจจุบัน ภาคธุรกิจของหลายๆ ประเทศในยุโรป จะพิจารณาคู่ค้ากันตั้งแต่ต้นน้ำ เช่นประเทศเยอรมนี ที่มีกฎในการนำเข้าน้ำมันปาล์มว่า หากผลผลิตนั้นได้มาจากการไปแย่งชิงแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของมนุษย์ เขาก็จะไม่รับซื้อ เป็นต้น" ดร.ขวัญฤดีกล่าว ดร. ขวัญฤดี กล่าวทิ้งท้ายว่า หลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทางมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย พัฒนาดัดแปลงขึ้น โดยมุ่งเน้นให้ความรู้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษา ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนอกจะช่วยสร้างโอกาสและรายได้เพิ่มขึ้นในทางธุรกิจและปกป้องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความยั่งยืนแก่ธุรกิจได้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ