ระดมสมองพัฒนาประเทศอาเซียนสู่สังคมคาร์บอนต่ำลดโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2015 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--Pico (Thailand) องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกโต้โผจัดสัมมนาระดมสมองผู้แทนประเทศอาเซียน มุ่งเป้าสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก เล็งออกแบบหลักสูตรใช้ร่วมกัน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาโลกสีเขียว ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change International Technical and Training Center: CITC) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ "การพัฒนาศักยภาพเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2558 โดยมี พล.อ.เอกชัย จันทร์ศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายประเทศเข้าร่วมบรรยายและสัมมนาในครั้งนี้ด้วย พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย ได้มาร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคของเรา ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันจนถึงปัจจุบันรวมถึงในอนาคต โดยในปี 2558 นี้ ในงานประชุม Paris Climate 2015 (COP21) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ UNFCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ข้อตกลงใหม่ที่สามารถใช้ได้กับทุกภาคส่วนที่จะผลักดันให้ทุกประเทศพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา "จากที่ได้เห็นผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของก๊าซเรือนกระจก เราเชื่อว่า การเปลี่ยนเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับประเทศเราในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กัน" พล.อ.เอกชัย กล่าว ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า 3 เรื่องหลักได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการเติบโตสีเขียว เป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักคือ 1.ภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายถึงการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการเติบโตสีเขียว เป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน 2.ความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และ 3.ความมีเหตุผล ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล ส่วนการจะพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้สำเร็จนั้น พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า จำเป็นต้องมีนโยบายมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐบาล ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคการศึกษา ดังนั้นการร่วมมือกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา และระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกันเอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการพัฒนา อย่างไรก็ตามการจะดำเนินการให้สำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดถึงประเด็นปัจจัยระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการสนับสนุนจากต่างประเทศด้านการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้าน ดร. ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและผู้บริหารของศูนย์ CITC กล่าวว่า CITC ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเครือข่าย องค์ความรู้ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียน ประกอบกับในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ และการพัฒนาตามแนวทางสังคมคาร์บอนต่ำที่คำนึงถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Low Carbon and Resilient Society Development) เป็นกุญแจหลักที่สำคัญในการที่จะแสดงศักยภาพของการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ "การจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งเน้นให้เป็นเวทีระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งและสร้างภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาตามแนวทางสังคมคาร์บอนต่ำที่คำนึงถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต" ดร.ณัฐริกา กล่าว ด้าน ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ CITC กล่าวว่า ในงานสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CITC) ร่วมกับ 1) Overseas Environmental Cooperation Center, Japan 2) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 3) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เพื่อทำความร่วมมือในเรื่องการร่วมดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ร่วมกันและ จะได้นำผลการสัมมนามาวิเคราะห์ความต้องการในการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบหลักสูตร และกิจกรรมที่เหมาะสมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ CITC ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีส่วนสำคัญในการการสนับสนุนการจัดตั้งของศูนย์ CITC ผ่านทางสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ