สมศ. จับมือ กทม. ตั้งเป้าดันกรุงเทพฯ สู่ “มหานครแห่งโอกาสทางการศึกษา” ของอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2015 17:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ สู่ "กรุงเทพมหานครแห่งโอกาสทางการศึกษา" ผ่านโครงการ "การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร" เพื่อการพัฒนาการจัดการการศึกษาในเชิงพื้นที่ให้เข้มแข็ง ซึ่งจะนำกรุงเทพมหานครก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) สร้างโอกาสให้กับผู้เรียนที่ไม่มีโอกาสได้เรียน 2) สร้างโอกาสการศึกษาต่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น 3) สร้างโอกาสทางการศึกษาให้โรงเรียนใน กทม. ได้มีครูที่ดี 4) จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ 5) สร้างโอกาสในการศึกษาภาษาต่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 6) สร้างโอกาสในการอบรมเพื่อเสริมสร้างความเป็นครูที่ดี และ 7) สร้างโอกาสให้โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินสามารถพัฒนาในทางที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมาพบว่ามีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งหมด 438 แห่ง ได้รับการประเมินครบแล้วทุกแห่ง มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับดี-ดีมาก รวม 391 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.27 สะท้อนมาจากนโยบายการศึกษาของกรุงเทพมหานครที่มุ่งใช้ประโยชน์จากผลการประเมินสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาโรงเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้รวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ การขยายห้องเรียน 2 ภาษา ฯลฯ สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่าภาพรวมการประเมินภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมด 438 แห่งและได้รับการประเมินครบแล้วทุกแห่ง โดยมีผลการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับดี-ดีมาก รวม 391 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.27 ทั้งนี้ จากผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครดังกล่าว อาจสะท้อนมาจากนโยบายการศึกษาของกรุงเทพมหานคร 4 ปัจจัยได้แก่ 1. การพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลายให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองอย่างสูงสุด ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน 2. พัฒนาโรงเรียน ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีบทบาทหลักในการสนับสนุน ส่งเสริม ดำเนินการเพื่อพัฒนานักเรียนทุกคนที่ได้เข้าเรียน และจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และคุณภาพสูงตามเกณฑ์ เป้าหมาย และมาตรฐานของหลักสูตรที่ได้กำหนดไว้ 3. พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้รวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ 4. ขยายห้องเรียน 2 ภาษา พัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ความสำเร็จของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ยังมาจากการตื่นตัวและผู้บริหารให้ความสำคัญในการประเมินคุณภาพ ด้วยการใช้ระบบประกันคุณภาพภายในเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนสถานศึกษา ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กทม. ได้ตั้งเป้าเป็นเมืองชั้นนำในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยร่วมกับ สมศ. ยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ สู่ "กรุงเทพมหานครแห่งโอกาสทางการศึกษา" ผ่านโครงการ "การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร" ซึ่งเป็นการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ให้เข้มแข็ง (Area-Based Assessment) เพื่อนำกรุงเทพมหานครก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ และขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยกลไกการประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนให้มีมาตรฐานเดียวกันอย่างทั่วถึง และ ผู้เรียนมีพื้นฐานที่แข็งแรงมั่นคงเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ อาทิ การเปิดห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้มิติใหม่ และสร้างศูนย์เยาวชนมิติใหม่ส่งเสริมการอ่าน ติดตั้งฟรี Hi-Speed WiFi4MB กว่า 5,000 จุด โดยเน้นที่โรงเรียน ห้องสมุด สวนสาธารณะ และสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวถึง แนวทางการส่งเสริมการศึกษาให้เป็นมหานครแห่งโอกาสทางการศึกษา ด้วย 7 ขั้นตอน "สร้างโอกาส" โดยจะดำเนินการกับโรงเรียนในสังกัด กทม. ดังนี้ 1) สร้างโอกาสให้กับผู้เรียนที่ไม่มีโอกาสได้เรียน โดยเฉพาะผู้เรียนที่ย้ายถิ่นและผู้เรียนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคน 2) สร้างโอกาสการศึกษาต่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ด้วยการแนะแนวทางการศึกษาต่อ เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถปรับตนเองไห้เข้ากับการเรียนในแต่ละสาขาวิชา และสามารถวางแผนการเรียนต่อได้อย่างเหมาะสม 3) สร้างโอกาสทางการศึกษาให้โรงเรียนใน กทม. ได้มีครูที่ดีและมีคุณภาพด้วยกระบวนการคัดกรองที่เข้มแข็ง และมีมาตรฐานคุณภาพ 4) จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ 5) สร้างโอกาสในการศึกษาภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยีที่เข้มแข็งเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 6) สร้างโอกาสในการจัดการศึกษาด้วยการพัฒนาครูที่ดีมีคุณภาพ การอบรมเพื่อเสริมสร้างความเป็นครูที่ดี 7) สร้างโอกาสให้โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิน เพื่อให้โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถพัฒนาในทางที่เหมาะสมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ผู้เรียนที่ดี จะเห็นได้ว่า สถานศึกษาจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการนำผลการประเมินการศึกษาและข้อเสนอแนะของ สมศ.มาพัฒนาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าสถานศึกษาต่างๆ ในสังกัด กทม. มีการพัฒนาจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสถานศึกษาบางแห่งที่ต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหานักเรียนย้ายถิ่นตามผู้ปกครองมาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งโรงเรียนไม่สามารถปฏิเสธการรับเข้าศึกษาได้ แต่ผู้เรียนเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียนไม่คล่อง ทำให้มีปัญหาในการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ตามมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายตัวของโรงเรียนในสังกัด กทม. ว่ามีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนของประชากรในกรุงเทพฯ โดยพบว่าในปีการศึกษา 2558 มีจำนวนเด็กที่มีความประสงค์เข้าโรงเรียนสังกัด กทม. เพิ่มขึ้นโดยมีโรงเรียนขอขยายการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่ขอขยายห้องเรียนระดับอนุบาล 21 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงเรียนที่ขอขยายชั้นอนุบาล 1–2 จำนวน 14 โรงเรียน และโรงเรียนที่ขอขยายชั้นอนุบาล 1 จำนวน 7 โรงเรียน สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของประชากรในกรุงเทพฯ ที่พบว่ามีเด็กอายุ 0-14 ปี จำนวน 213,373 คน มีอัตราการเกิดของเด็กใน กรุงเทพฯ ปีละ 101,112 คน ประชากรแฝงกว่า 3,000,000 คน และมีแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 1,000,000 คน ดังนั้น โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป ด้วยการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการตามระบบการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบและเมื่อโรงเรียนเข้าสู่มาตรฐานแล้วควรมีกลไกรักษาความมีคุณภาพตามมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกของโรงเรียนในสังกัดไว้อย่างต่อเนื่อง สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ