‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม’ เส้นทางโอกาส...สู่ความยิ่งใหญ่ในภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Monday July 20, 2015 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดศักยภาพนครพนม พร้อมเดินหน้าสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ "นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์" แจงทิศทางการพัฒนา เผยวิสัยทัศน์ "นครพนม เมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจ เกษตรไร้สารพิษ เศรษฐกิจไร้พรมแดน" แนะผู้ประกอบการท้องถิ่น เตรียมความพร้อมและปรับตัว ใช้จุดแข็งเข้าใจตลาด Connection เหนียวแน่นต่อยอดธุรกิจ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการและข้าราชการ ร่วมแรงร่วมใจผลักดันไปในทางเดียวกัน พร้อมดึงนักธุรกิจคุณภาพร่วมพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยในเวทีสัมมนา "เขตพัฒนาเศรษฐกิจนครพนม…ได้มากกว่าที่คิด" วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ณ สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมเป็นเมืองสงบปลอดภัยและน่าอยู่ จนได้รับการประกาศจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2555 และ 2556 ให้เป็น "เมืองที่มีความความสุขที่สุดในประเทศไทย" และในขณะเดียวกันจังหวัดนครพนม ยังได้รับการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ในพื้นที่ 2 อำเภอ 13 ตำบล ภายใต้วิสัยทัศน์ "เมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียนและจีนตอนใต้ – ตะวันออก" เส้นทางการคมนาคมขนส่งทางบกที่สั้นที่สุด ถือเป็นจุดเด่นของจังหวัดนครพนม เมื่อเดินทางผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 12 หรือ R12 เริ่มจากเมืองท่าแขก สปป.ลาว ผ่านด่านจาลอ ด้วยระยะเทางเพียง 330 กิโลเมตร ก็จะถึงตอนกลางประเทศเวียดนามที่จังหวัดฮาติงห์ อันเป็นที่ตั้งเขตเศรษฐกิจหวุ่งอ๋าง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญบนเส้นทางเส้นเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ไฟฟ้าพลังงานความร้อน เหล็ก ปิโตร เคมี การบริการท่าเรืองทางทะเล จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1A ซึ่งเป็นทางหลวงหลักของประเทศเวีนดนาม เดินทางผ่านเมืองวิงห์ นิงห์บิง ไปยังกรุงฮานอย ด้วยระยะเทางรวมเพียง 650 กิโลเมตร และยังสามารถเข้าสู่ด่านผิงเสียง มณฑลกว่างสี ประเทศจีน ในระยะทางรวมเพียง 831 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นอีกด่านที่น่าจับตาของนักธุรกิจไทย เนื่องจากมณฑลกว่างสีมีประชากรกว่า 200 ล้านคน และประชากรมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกัน และบริโภคอาหารคล้ายคลึงกับไทย จึงทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยได้หันมาใช้เส้นทาง R12 ในการขนส่งผลไม้สดและสินค้าต่าง ๆ จากประเทศไทยไปยังประเทศจีน เพราะมีระยะทางการขนส่งสั้นกว่า อีกทั้งยังมีต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่าอีกด้วย จึงทำให้เส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด สำหรับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม "ภาพรวมมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าของสินค้าต่าง ๆ ผ่านด่านศุลการกรนครพนม ในปีงบประมาณ 2557 เทียบกับปีงบประมาณ 2556 พบว่ามูลค่าการนำเข้ามีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 286.6 มูลค่าการส่งออกมีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 48.5 มูลค่าการค้ารวมทั้งหมดขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 100.6 และเมื่อทำการเปรียบเทียบมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างจุดผ่านแดนถาวรของสะพานมิตรภาพ 1 (หนองคาย – เวียงจันทร์) จังหวัดหนองคาย สะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) จังหวัดมุกดาหาร และสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) จังหวัดนครพนม พบว่ามูลค่าการค้าชายแดนของจังหวัดนครพนม มีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงทำให้มีผู้ประกอบการค้าหลายรายให้ความสนใจในการที่จะเข้ามาลงทุนและใช้เส้นทางทางการค้า การลงทุน กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านจังหวัดนครพนมเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ปี 2557 มียอดมูลค่ารวมของจังหวัดนครพนมเพิ่มสูงขึ้น เป็นอันดับที่ 1 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง" ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าว นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ กล่าวว่า วันนี้เราพร้อมที่จะพัฒนาจังหวัดนครพนมไปสู่เป้าหมาย 3 ประการ กล่าวคือ 1.การอนุรักษ์เมืองเก่า พื้นที่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่เทศบาลเมืองนครพนม ถึงเทศบาลตำบลธาตุพนม จะกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่า และเป็นเมืองเส้นทางจักรยานริมฝั่งโขง 2.การวางผังเมืองเพื่อการพัฒนา แผนทิศทางการวางผังเมืองใหม่เชื่อมโยงระหว่างสะพานมิตรภาพ 3 กับท่าอากาศยานนครพนม โดยได้ทำการสำรววางโครงข่ายการคมนาคมเส้นใหม่ หรือทำการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเดิม เพื่อให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์การขนส่งขายแดนของกรมการขนส่งทางบก และรองรับรอไฟรางคู่บ้านไผ่ – นครพนม ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้ และ 3.การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าชายแดน จังหวัดนครพนมได้กำหนดโซนนิ่งการผลิตวัตถุดิบเพื่อส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครนพนม รวมทั้งสนับสนุนให้จังหวัดใกล้เคียงเป็นพื้นที่สนับสนุนวัตถุดิบในการผลิตด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ข้าวและพืชไร่ ในวันนี้นครพนม จึงพร้อมแล้วที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและโลสิสติกส์ ควบคู๋กับการเป็นเมืองผลิตอาหารปลอดภัยและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ผู้ว่าราชการจังหัดนครพนม กล่าวอีกว่า ทำเลที่ตั้งของจังหวัดนครพนมอยู่บนแนว 4 แยกใหญ่ของโลก คือ "แนวนอน" เราอยู่บนแนวเส้นทางเศรษฐกิจ EWEC (East-West Economic Corridor) และในแนวตั้งเราอยู่บนแนวเส้นทางเศรษฐกิจ GMS (Greater Mekong Subregion) ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของจังหวัดนครพนม จึงทำให้ถูกเลือกให้เป็น "จุดยุทธศาสตร์ใหม่" ที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้จัดตั้ง "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" ที่จังหวัดนครพนม ภายใต้ชื่อ "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม" หรือ Nakhon Phanom Special Economic Development Zone ซึ่ง "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม" นี้มีเป้าหมายหลักที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในระดับภูมิภาค (ไทย, ลาว, เวียดนามและจีน) ให้เติบโตร่วมกัน เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรี AEC 2015 ที่กำลังจะมาถึงในปลายปีนี้ "เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว ทางรัฐบาลจึงได้ออกนโยบายจูงใจผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงาน มีการจัดตั้ง"ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จณจุดเดียว" หรือ OSS (One Stop Services) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินนิติกรรมต่าง ๆ กับทางราชการได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยสมบูรณ์แล้ว และทางจังหวัดนครพนมได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน" นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ กล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวอีกว่า วันนี้ทางจังหวัดนครพนมอยากให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นทุกท่านรับทราบข้อมูลและอยากให้ทุกท่านมาร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะอย่างไรก็ตามหลาย ๆ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ผู้ได้รับผลประโยชน์มักจะไม่ใช่ผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่จะเป็นนักธุรกิจหรือนักลงทุนรายใหญ่ระดับประเทศ เพราะเขาเหล่านั้นเห็นและปรับตัวให้เข้าถึงโอกาสได้ดีกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธการเข้ามาของนักธุรกิจหรือนักลงทุนรายใหญ่ระดับประเทศได้ เราในฐานะผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กับโอกาสมากกว่า จะเตรียมความพร้อมและปรับตัวอย่างไรให้สามารถใช้ประโยชน์จากนักธุรกิจหรือนักลงทุนรายใหญ่ระดับประเทศได้ ผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องใช้จุดแข็งที่เรามีความเข้าใจตลาดและความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่นดีกว่า และเรามีความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่นที่เหนียวแน่นกว่าผู้ประกอบการที่มาจากนอกพื้นที่ อีกทั้งเราต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของนักธุรกิจหรือนักลงทุนรายใหญ่ระดับประเทศ ทั้งบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ ระบบการบริหารจัดการ เทคโนโลยีและเงินทุน มาใช้ต่อยอดธุรกิจปัจจุบันให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น "ทุกการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จะมีคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เราไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ แต่จะได้หรือเสียประโยชน์อยู่ที่เรามองเห็นโอกาสสามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงได้ดีแค่ไหน นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ของจังหวัดนครพนมมีความชัดเจนมากว่า เราจะเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแรกที่เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นหลัก โดยจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือของผู้ประกอบการท้องถิ่นและ นักธุรกิจหรือนักลงทุนระดับชาติ ให้ช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ทั้งไทย ลาว เวียดนามและจีน ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมอันดีงานของจังหวัดนครพนม" วิสัยทัศน์ "จังหวัดนครพนม"เมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจ เกษตรไร้สารพิษ เศรษฐกิจไร้พรมแดน นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ กล่าวว่า จังหวัดนครพนมได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้สอดคล้องกับจุดยืนเพื่อความสำเร็จของประเทศไทยบนเวทีโลก คือ วิสัยทัศน์ข้อที่ 1 การเป็นครัวอาหารไร้สารพิษของโลก เราต้องทำให้คน 7,000 ล้านคน รับรู้ว่าถ้าเห็น Made in Nakhon Phanom คือ สัญญลักษณ์ของคำว่า "ไร้สารพิษ" จังหวัดนครพนมจะทำการผลิต อาหาร ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ไร้สารพิษ สู่ตลาดโลก เราจะไม่ยอมให้ กิจการหรือโรงงานใด ๆ ที่ใช้สารพิษหรือมีมลภาวะเป็นพิษหรือกิจการ/โรงงานที่ประกอบกิจการส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้พื้นที่ประกอบการใน "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม" โดยเด็ดขาด เราจะร่วมมือกับแขวงคำม่วน, สปป.ลาวในการพัฒนาเกษตรไร้สารพิษ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ/ประชาชนท้องถิ่นของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน วิสัยทัศน์ข้อที่ 2 ศูนย์กลางทางการค้าใหม่สู่ลูกค้า 3,400 ล้านคนในระดับภูมิภาค ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของจังหวัดนครพนม เราอยู่ตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจที่ตัดกันระหว่างแนวนอน EWEC (East-West Economic Corridor) และแนวตั้ง GMS (Greater Mekong Subregion) ซึ่งถือว่าเป็น "สี่แยกใหญ่" ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก บนเส้นทางเศรษฐกิจทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวนี้ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3,400 ล้านคนหรือมากกว่าประชากรครึ่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามและจีน ดังนั้นเราจะสนับสนุนให้มีระบบการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วปลอดภัย ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อรองรับธุรกิจการขนส่งสินค้า (Logistics) ระดับภูมิภาค วิสัยทัศน์ข้อที่ 3 การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าอยู่ที่สุดในโลก การที่จังหวัดนครพนมมีสะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 3 ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนครพนม และแขวงคำม่วน สปป.ลาว อีกทั้งสะพานมิตรภาพฯ ดังกล่าวนี้ยังเชื่อมกับถนนสายใหม่ที่เรียกว่า R12 ซึ่งเป็นถนนที่อยู่บนเส้นทางที่เป็นส่วนที่แคบที่สุดของสปป.ลาว ซึ่งมีระยะทางเพียงแค่ 140 กิโลเมตรโดยประมาณ จึงทำให้การเดินทางจากจังหวัดนครพนมไปยังเวียดนาม ใช้เวลาเดินทางสั้นที่สุด เราจึงจะจัดตั้งความร่วมมือในการท่องเที่ยว 3 ประเทศ คือ ไทย ลาวและเวียดนาม ภายใต้ Concept "วันเดียวเที่ยว 3 ประเทศ โดยเราจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ธรรมชาติและเกษตรไร้สารพิษ โดยจะร่วมมือกันเปลี่ยนเมืองทางผ่านให้เป็นเมือง Destination คือ เป็นเมืองที่ทุกคนตั้งใจจะมา "เพื่อให้วิสัยทัศน์เกิดขึ้นได้จริง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ความร่วมมือภายในของประชาชน ผู้ประกอบการท้องถิ่นและข้าราชการทุกคนของจังหวัดนครพนม เมื่อทุกคนเห็นภาพและร่วมแรงร่วมใจที่จะผลักดันไปในทิศทางเดียวกันแล้ว เราจะเริ่มดึงนักธุรกิจและนักลงทุนระดับชาติที่มีคุณภาพดีเข้ามาร่วมกับเราในการพัฒนา "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม" ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในขณะนี้ คือ นักลงทุนหรือนักธุรกิจระดับชาติยังมองไม่เห็นโอกาสและศักยภาพของพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม ส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าจะมีกำลังซื้อมากมายนัก ไม่คุ้มค่ากับการมาลงทุน เราจึงมีแผนการจัดงานเปิดตัว "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม" ขึ้นระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2558 เป็นเวลา 7 วัน เพื่อพิสูจน์กำลังซื้อในพื้นที่และจะเอาผลการดำเนินงานนี้ ไปแสดงให้นักธุรกิจหรือนักลงทุนระดับชาติได้เห็นศักยภาพโอกาสและตัดสินใจลงทุนในจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นการดึงดูดให้นักธุรกิจ/นักลงทุน หันมามองจังหวัดนครพนมในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ภายในงานเราได้เชิญนักธุรกิจระดับประเทศ เช่น ท่านวิชัยทองแตง ผู้บริหารกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ผู้บริหารBroker ใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทาการเงินของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ มาร่วมพิธีเปิดงานด้วย และภายหลังงานเปิดตัวเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เราตั้งใจที่จะจัดสัมมนาที่กรุงเทพฯ เพื่อบรรยายโอกาสในการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนมให้กับนักธุรกิจหรือนักลงทุนระดับชาติต่อไปด้วย เรามีบันได 4 ขั้นในการชักจูงนักธุรกิจหรือนักลงทุนระดับชาติให้เข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ขั้นที่ 1 การกระจายสินค้าผ่านคลังสินค้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ ขั้นที่ 2 การลงทุนสร้าง คลังสินค้าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ขั้นที่ 3 การลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และขั้นที่ 4 การลงทุนวิจัยและพัฒนาสินค้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม ทั้งหมดนี้เป็นภาพอนาคตที่อยากจะให้ทุกคนได้เห็น "ภาพเหล่านี้มันอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นของจังหวัดนครพนม ทางจังหวัดนครพนมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในครั้งนี้จะกลายเป็นสร้าง "โอกาสทางเศรษฐกิจ" ที่ยิ่งใหญ่ของ ประชาชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นของจังหวัดนครพนม และจะส่งผลดีในระยะยาวกับลูกหลานของพวกเราในอนาคต" นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวย้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ