ศ.ดร.สุชัชวีร์ แนะภาครัฐตั้งวิสัยทัศน์ประเทศไทยก่อนการปฏิรูป พร้อมชูประเทศพัฒนาแล้วขาด “วิทยาศาสตร์” ไม่ได้

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2015 15:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยสาเหตุประเทศไทยรั้งท้ายการพัฒนาเป็นเพราะทุกภาคส่วนขาดแรงบันดาลใจไม่มีความมุ่งมั่นในการพึ่งพาตนเอง วอนภาครัฐตั้งวิสัยทัศน์ชาติให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางให้คนไทยนำชาติก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย พร้อมชี้ความก้าวล้ำของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้ซื้อไปเป็นประเทศผู้ผลิตได้ ในขณะที่การผลิตบัณฑิตไทยด้านวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตลอดจนขาดวินัยและทักษะในยุคศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การบูรณาการ และการประยุกต์ใช้ สจล.จึงได้ตั้งวิสัยทัศน์ในการก้าวไปเป็น MIT แห่งเอเชียและเป็นสุดยอดสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2563 ที่มุ่งสร้างนวัตกรคุณภาพมาเปลี่ยนประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “The Master of Innovation: เจ้าแห่งนวัตกรรม” โดยพร้อมเป็นฟันเฟืองสู่การพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานเสวนา “เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย เปลี่ยนอย่างไรให้พัฒนาอย่างยั่งยืน” ในงานวิศวะ’58 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในห้วงแห่งการพัฒนา การที่ชาติจะก้าวหน้าและเข้าใกล้ความเป็นสากลได้นั้น ความรู้ความสามารถของประชากรถือเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคนไทยมีศักยภาพทั้งในแง่ของความคิดสร้างสรรค์และสติปัญญาไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใด แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยยังคงรั้งท้าย ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศกำลังพัฒนา เป็นเพราะว่าคนไทยขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาชาติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา อาจารย์ ผู้ปกครอง หรือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่ยังขาดความมุ่งมั่นในการพึ่งพาตนเอง ไม่มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนให้พุ่งชน ประเทศไทยก็คงจะก้าวไม่พ้นกับดักไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้เสียที ทั้งนี้ หากลองวิเคราะห์กรณีศึกษาอย่างประเทศมาเลเซียที่ทุกวันนี้เจริญก้าวไกลในทุกๆ ด้าน จะพบว่ามีคนในชาติมีแรงผลักดันจากการตั้งเป้าสู่การเป็นประเทศโลกที่ 1 ภายในปี 2563 หรืออย่างประเทศเกาหลีใต้ที่พัฒนาจนมาถึงทุกวันนี้ด้วยคำพูดคำเดียวว่า “เราจะแพ้ญี่ปุ่นไม่ได้” ดังนั้น เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ภาครัฐจึงควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ของชาติที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้คนไทยนำชาติก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายอย่างไรก็ตาม การจะผันสถานะประเทศไทยไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ไม่เพียงต้องใช้ความมุ่งมั่นของคนในชาติเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีความก้าวล้ำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากบุคลากรของชาติมีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและนำมาใช้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปได้และก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมในองค์รวมต่อไป ทั้งในแง่ของการพัฒนาสาธารณูปโภค ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งมีเพียงถนนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสายเดียวเท่านั้นที่จะนำทางประเทศไทยให้เปลี่ยนจากประเทศผู้ซื้อไปเป็นประเทศผู้ผลิตได้ แต่ในทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่มีแนวโน้มเลือกเรียนสายบริหารธุรกิจ สื่อสารมวลชน และกฎหมาย กันมากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ของการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ถือได้ว่าขาดแคลน หากเราไม่สามารถลบข้อจำกัดนี้ได้ ประเทศไทยคงต้องดำเนินแผนตั้งรับอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันต่อไป สจล.จึงได้ตั้งวิสัยทัศน์ในการก้าวไปเป็น MIT แห่งเอเชีย และเป็นสุดยอดสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2563 ที่มุ่งสร้างนวัตกรคุณภาพมาเปลี่ยนประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “The Master of Innovation: เจ้าแห่งนวัตกรรม” โดยพร้อมเป็นฟันเฟืองสู่การพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนด้านนายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษยชาติในทุกด้านตั้งแต่ อาหารและยาโครงสร้างสำหรับการคมนาคมและการอยู่อาศัย การติดต่อสื่อสาร และการป้องกันภัยพิบัติ เป็นต้น นับได้ว่าเป็นศาสตร์ที่ปะปนอยู่ในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิต รวมถึงเป็นระบบความคิดพื้นฐานที่ต้องให้น้ำหนักในการศึกษาอย่างจริงจัง แต่หลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยในปัจจุบันมักเน้นทฤษฎีและมีการปฏิบัติเป็นเพียงส่วนเสริม ในฐานะผู้ประกอบการเห็นว่า การเรียนการสอนในรูปแบบเดิมๆ ไม่เอื้อต่อการเสริมสร้างคุณสมบัตินักพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในยุคศตวรรษที่ 21 ได้ อันประกอบไปด้วยทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการบูรณาการ และทักษะการประยุกต์ใช้ ที่ล้วนเกิดได้จากการทดลองและการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งในส่วนของบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เองก็ได้ยึดหลักการปฏิบัติและพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับบุคลากรอยู่เสมอ โดยมุ่งหวังให้เกิดการต่อยอดประสบการณ์ความรู้และสร้างประโยชน์ออกสู่สังคมต่อไป อย่างไรก็ตาม คนไทยยังคงขาดพื้นฐานความมีวินัย ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของการสร้างชาติ หากเรายังขาดวินัย ประเทศอื่นก็จะแซงหน้าไปและทิ้งประเทศไทยให้ล้าหลัง ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันปลูกฝังความมีวินัยให้กับประชาชน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับอนาคตของชาติที่จะพัฒนาต่อเนื่องไปไม่รู้จบสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ