กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เดินหน้าธนาคารเพื่อการลงทุน รุกธุรกิจ Private Banking รองรับการเติบโตกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2015 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ธนาคารเกียรตินาคิน "กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร" เผยปรับภาพรวมของสาขาทั่วประเทศ พร้อมยกระดับ Flagship Branch "เซ็นทรัลเวิลด์ เยาวราช อโศก ทองหล่อ" ให้เป็น Financial Hub เพื่อรุกธุรกิจ Private Banking รองรับการเติบโตของกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่ที่เริ่มกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ส่วนทางด้านสินเชื่อเน้นการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ และขยายพอร์ตสินเชื่อบรรษัท คาดสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่แม้ว่าจะมีสถานะที่มั่นคง แต่ยังคงฟื้นตัวช้า รวมถึงต้องจับตาปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจจีน และการแก้ปัญหากรีซ นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Aphinant Klewpatinond, President and Chairman of Commercial Banking Business) เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ การเป็น Credit House ที่มีประสิทธิภาพ ถัดมาคือการรุกธุรกิจ Private Banking อย่างจริงจัง เนื่องจากมีโอกาสที่ดีในการขยายตลาด และสุดท้ายคือการรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจ Investment Banking เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในธุรกิจนี้มาโดยตลอด หากพิจารณาแยกเป็นรายธุรกิจนั้น ในส่วนของ Credit House จะอยู่ในส่วนของลูกค้าสินเชื่อที่ดำเนินการภายใต้ธนาคารเกียรตินาคิน ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมต้องเน้นทางด้านการรักษาคุณภาพของสินทรัพย์เป็นหลัก ตลอดจนขยายการเติบโตของสินเชื่อบรรษัท ล่าสุด ได้ร่วมกับบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) ธนาคารไทยสองแห่ง และไอเอ็นจี ปล่อยกู้ให้กับ PRASAC ไมโครไฟแนนซ์รายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา ถัดมาคือธุรกิจ Private Banking โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของ บล.ภัทร และฐานลูกค้าของธนาคารเกียรตินาคินในการรุกธุรกิจอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเครือข่ายสาขาให้มีรูปแบบการบริหารที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (ณ สิ้นไตรมาส 2/2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 63 สาขา) พร้อมทั้งพัฒนาและยกระดับ Flagship Branch 4 แห่งคือ เซ็นทรัลเวิลด์ เยาวราช อโศก และทองหล่อ ให้เป็น Financial Hub ที่มีผลิตภัณฑ์และการบริการของกลุ่มธุรกิจฯ อย่างครบถ้วน ซึ่งจะทยอยเปิดสาขาโฉมใหม่ต่อไป และสุดท้ายคือธุรกิจ Investment Banking ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของ บล.ภัทรและเป็นผู้นำในธุรกิจนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าจะเป็นบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ของประเทศ รวมถึงการให้บริการด้านการซื้อขายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ "รูปแบบการทำธุรกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จะมุ่งเน้นการเป็นธนาคารที่มีการให้บริการด้านตลาดทุนครบวงจร เห็นได้จากผลประกอบการที่มีการกระจายตัวของรายได้ โดยมีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ 36% โดยจะมุ่งเป้าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารและตลาดทุนเป็นหลัก" นายกฤติยา วีรบุรุษ ประธานธุรกิจตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr. Krittiya Veeraburus, Chairman of Capital Market Business, President of Phatra Capital Public Company Limited and Phatra Securities Public Company Limited) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวผันผวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์หนี้กรีซ และการลดลงอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นจีน รวมถึงปัจจัยภายในประเทศที่เกิดจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่ต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ลูกค้าเน้นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนหรือที่เรียกว่า Asset Allocation มากขึ้น มีการออมและการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการฝากเงินหรือลงทุนในหุ้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจ Private Banking ในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาการลงทุนดูแลความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าบุคคลรายใหญ่ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของ บล.ภัทร ในการเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ผสานกับฐานลูกค้าเงินฝากและช่องทางการให้บริการของธนาคาร "ภัทรมีประสบการณ์ทางธุรกิจ Private Banking มากว่า 15 ปี เข้าใจฐานลูกค้ากลุ่ม High Net Worth (เงินลงทุนมากกว่า 30 ล้านบาท) มีความชำนาญ เชี่ยวชาญการลงทุน มีกระบวนการให้คำปรึกษาที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า พร้อมคัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เหมาะสมพร้อมข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ ลูกค้าบุคคลรายใหญ่มีการลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวัง อีกทั้งในปัจจุบัน การลงทุนมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงในทรัพย์สินหลากประเภทและหลายภูมิภาค และอีกหนึ่งกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูงคือ Mass Affluent (เงินลงทุนตั้งแต่ 2-30 ล้านบาท) ในช่วงปลายปี จะมีการเปิดบริการ Phatra Edge อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นบริการวางแผนการเงิน โดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมงานภัทร ให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นเองค่อนข้างผันผวน และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลงเช่นปัจจุบัน และเราเองจะไม่หยุดการพัฒนาศักยภาพ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" สำหรับผลการดำเนินงานนั้น นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Chavalit Chindavanig, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Bank Plc.)เปิดเผยว่า "งวดไตรมาส 2/2558 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กำไรสุทธิ 749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อน หากรวมกำไรไตรมาส 1/2558 ด้วย อยู่ที่ 1,413 ล้านบาท ในส่วนของรายได้รวมอยู่ที่ 3,458 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 2,202 ล้านบาทหรือคิดเป็น 64% ของรายได้รวม ที่เหลือคือรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 1,255 ล้านบาท (36%) สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีเงินให้สินเชื่อรวมจำนวน 175,717 ล้านบาท ลดลง 4.8% จากสิ้นปี 2557 สำหรับหนี้สินรวม (เงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วบีอี และหนี้สินอื่นๆ) มีจำนวน 206,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% ในส่วนของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ (Loan Spread) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% (ไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.0%) เนื่องจากต้นทุนทางการเงินลดลง รวมถึงสัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 48.2% ของเงินฝากรวม จากสิ้นปี 2557 ที่ 47.7% สำหรับอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 6.9% และเริ่มเห็นแนวโน้มลดลง สำหรับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ตามเกณฑ์ ธปท. อยู่ที่ 15.13% (เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 14.76%) ส่วนธุรกิจตลาดทุน (บล.ภัทร บล.เคเคเทรด และ บลจ. ภัทร) ประกอบไปด้วย ธุรกิจนายหน้า ธุรกิจวานิชธนกิจ ธุรกิจการลงทุน และธุรกิจจัดการกองทุน โดย บล.ภัทรและบล.เคเคเทรดมีส่วนแบ่งตลาดรวมเท่ากับ 5.95% (เป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 35 แห่ง) ในส่วนของธุรกิจ Private Wealth Management มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำรวมมูลค่า 311,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากสิ้นปี 2557 โดยมีเงินลงทุนใหม่ 20,000 ล้านบาท (เป็นลูกค้าธนาคารกว่า 50%) และในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุน ภายใต้ บลจ.ภัทร มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ 36,479 ล้านบาท"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ