กฟผ. จับมือ องค์การสวนสัตว์ ปลูกป่าให้ช้างคืนถิ่น บนพื้นที่ 300 ไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ป่าสมบูรณ์ หวังแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 4, 2015 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--Boss Media เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดโครงการ “ปลูกป่า เพื่อช้างและสิ่งแวดล้อม ภายในโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การสวนสัตว์ โดยนับเป็นครั้งแรกที่ให้ขบวนช้างนำต้นกล้าที่ประกอบไปด้วย ต้นกันเกรา ต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ รวมไปถึง ต้นมะกำ, ต้นมะค่าโมง, ต้นประดู่, ต้นยางนา ฯลฯ มาให้ปลูกบนพื้นที่ 300 ไร่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ เป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีการเลี้ยงช้างมากที่สุด ทำให้คนกับช้างมีความผูกพันเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน การจัดโครงการปลูกป่าเพื่อช้างและสิ่งแวดล้อมล้อม จึงถือเป็นกิจกรรมดีๆ เพื่อช้าง เพื่อคน เพื่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมตามวิถีของชุมชนชาวกูย และชุนชนบริเวณโดยรอบให้มีส่วนร่วมในการรักษ์ป่าต่อไป นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ.ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าร่วมกับหน่วยงานต่างๆมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน รวมพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศกว่า 4 แสนไร่ โดยในโครงการนี้ กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณปลูกและบำรุงรักษา โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2560 บนพื้นที่ 300 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสวนป่าดงภูดิน เพื่อต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า โครงการปลูกป่าเพื่อช้างและสิ่งแวดล้อม ภายในโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ หรือ โครงการช้างคืนถิ่น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาช้างเร่ร่อนในเมืองหลวง พัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลสวัสดิภาพช้าง ซึ่งถือเป็นโครงการที่น้อมนำแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงรับสั่งให้องค์การสวนสัตว์ดูแลและอนุรักษ์ช้างพันธุ์ไทย เนื่องจากช้างถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติควรได้รับความคุ้มครองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดโครงการปลูกป่าเพื่อช้างและสิ่งแวดล้อมฯ ครั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้มีความสมบูรณ์สามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างและสวัสดิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและชุมชนร่วมกันฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ช้างและคนในชุมชนได้มีพื้นที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดูแลรักษาป่าในพื้นที่ธรรมชาติอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ