เปิดมุมคิดและการทำงาน “นักภัณฑารักษ์” มิวเซียมสยาม “คุ้ยประเด็น-ตีความใหม่” สร้างนิทรรศการไฉไลโดนใจผู้ชม

ข่าวทั่วไป Monday August 24, 2015 12:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ไอแอมพีอาร์ คำว่า “ภัณฑารักษ์” ในแวดวงพิพิธภัณฑ์ไทยนั้นหมายถึงผู้ดูแลรักษาวัตถุโบราณล้ำค่าของชาติ ในขณะที่ “มิวเซียมสยาม” พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบในการสร้างการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน ภัณฑารักษ์กลับมีภารกิจและหน้าที่แตกต่างไปอย่างน่าสนใจ เพราะ “ภัณฑารักษ์” หรือ “นักจัดการความรู้” ในสังกัดของ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ มิวเซียมสยาม นั้นเป็นทั้ง “นักวิชาการ” และ “นักคิด” ที่ต้องผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ ข้อมูลเชิงวิชาการ มุมมองทางสังคมศาสตร์ หลักฐานทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ มุมมองด้านวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวทางไสยศาสตร์ โดยนำประเด็นหรือเรื่องราวที่น่าสนใจมา “ตีความ” ในมุมมองที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์เป็นนิทรรศการสุดเก๋และโดนใจ เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดการเรียนรู้ให้กับผู้ชม “พาฉัตร ทิพทัส” นักจัดการความรู้อาวุโส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่าการผลิตนิทรรศการสักเรื่องหนึ่ง มีวิธีการทำงานที่ไม่แตกต่างไปจากการทำ Thesis หรืองานวิจัย ลักษณะคล้ายวิทยานิพนธ์ขนาดย่อม และที่สำคัญคือมิวเซียมสยามไม่ได้จัดแสดงวัตถุจัดแสดงหรือวัตถุโบราณเหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ดังนั้นการนำเสนอจึงสร้างสรรค์ให้เกิดมุมมองในหลายมิติ “เราไม่ได้แสดงวัตถุจัดแสดง เพราะว่าจริงๆ แล้วเราจัดแสดงเรื่องราวของวัตถุนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวหรือแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เชิงมานุษยวิทยา หรือเชิงวิทยาศาสตร์ นิทรรศการหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาอย่างนิทรรศหลงรัก ซึ่งเรามีวัตถุจัดแสดงที่มีคุณค่า แต่เราใช้วัตถุจัดแสดงเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องในประเด็นที่เชื่อมโยงไปสู่เรื่องราวในด้านต่างๆ มากกว่าการโชว์วัตถุชิ้นนั้นๆ” “วรกานต์ วงษ์สุวรรณ” นักจัดการความรู้อาวุโส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เล่าว่าการสร้างสรรค์นิทรรศการของมิวเซียมสยามแตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ทั่วไปคือ ไม่ได้มีแนวคิดในการนำของโบราณที่มีอยู่แล้วมาตั้งจัดแสดง เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ต้องการเข้ามาชม “มิวเซียมสยามทำนิทรรศการเชิงประวัติศาสตร์หลายครั้ง ถ้าเป็นที่อื่นๆ ก็คงเอาของโบราณที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดง แต่เราจะพยายามทำให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้นมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางสังคมและเรื่องราวๆ อื่นใกล้ตัว หรือแม้กระทั่งเรื่องของความเชื่อก็นำเอามาผนวกกับวิถีชีวิตของคน เพื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นว่าเนื้อหาสำคัญของชุดนิทรรศการเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเข้าถึงและสัมผัสได้” “ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร” นักจัดการความรู้อาวุโส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ระบุว่าการที่จะทำนิทรรศการขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง การค้นหาข้อมูลจากในโลกออนไลน์แทบจะไม่เกิดประโยชน์ ต้องค้นคว้าจากเอกสารอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ตำรา หรืองานวิจัยต่างๆ ทั้งจากห้องสมุดในเมืองไทยหรือแม้แต่ในต่างประเทศเป็นหลัก “เพราะว่าถ้าเราใช้สื่อออนไลน์หาข้อมูล คนอื่นๆ ก็หาได้ แล้วเขาก็รู้เหมือนกับเรา เมื่อทำออกมาเป็นนิทรรศการก็ไม่มีความน่าสนใจ เพราะเขารู้กันอยู่แล้ว” หลายครั้งที่เหล่าภัณฑารักษ์ได้รับ “โจทย์” ที่แค่ฟังหัวข้อก็น่าเบื่อแล้วเช่น เรื่องของภูมิปัญญาไทยไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวหรือผ้าไหมไทย แต่เมื่อหัวข้อเหล่านี้ได้รับการ “ตีความ” เรื่องราวทั้งหมดเสียใหม่ ก็เกิดเป็นนิทรรศการที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้คนเข้ามาซึมซับรับรู้เข้าใจภูมิปัญหาไทยได้อย่างไม่รู้ตัว “ภูมิปัญญาเป็นเรื่องที่วัยรุ่นฟังแล้วเบื่อ เพราะมันเป็นคำที่ตายไปแล้ว คิดอะไรไม่ออกบอกไม่ถูกก็ใช้คำว่าภูมิปัญญาไว้ก่อน เราก็ตีความเสียใหม่ อย่างเรื่องข้าวก็ตีความว่าชาวนาคือนักค้นคว้าหรือนักวิจัยแห่งท้องทุ่ง การปลูกข้าวเป็นวิทยาศาสตร์มีทั้งวิชาเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ เช่นเครื่องจักรกล 8 อย่าง เช่น รอก เฟือง คาน ที่เราเคยเรียนสมัยเด็กซึ่งลืมกันไปแล้ว เอาเรื่องนี้มาผสานกับเรื่องทางสังคมและนำภูมิปัญญามาอธิบายให้เป็นวิทยาศาสตร์” พาฉัตรกล่าว “หรือการนำเสนอเรื่องไหมไทย ก็ถูกตีความใหม่และนำเสนอเป็นนิทรรศการมองใหม่ด้ายไหม โดยมองให้กว้างขึ้นว่าไหมเป็นอะไรได้มากกว่าเสื้อผ้า เช่น ไหมเย็บแผล ที่คนโบราณเอามาใช้เย็บแผล เมื่อก่อนไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไรถึงนำสิ่งนี้มาใช้ ก็บอกไปว่าเป็นภูมิปัญญา แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าเส้นไหมคือโปรตีนที่เข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ เมื่อนำไปเย็บแผลแล้วจะช่วยป้องกันไม่ให้แผลอักเสบ นี่คือการตีความที่ทำให้เกิดมิติใหม่ในการมองเส้นไหมที่ไปไกลกว่าแค่เสื้อผ้า” ทวีศักดิ์อธิบายเสริม ใช่ว่าจะมองและตีความเรื่องเก่าๆ ในมุมมองเชิงบวกเท่านั้น บางครั้งทีมภัณฑารักษ์ก็นำเสนอภูมิปัญญาเหล่านี้ในเชิงลบแต่สร้างสรรค์ เช่นนิทรรศการเรื่อง “กินของเน่า” ที่สวนกระแสภาพลักษณ์อาหารไทยที่ต้องรสชาติดีมีประโยชน์และสวยงาม แต่แท้ที่จริงแล้วอาจกำลังกินของเน่า เพราะวัตถุดิบบางอย่างก่อนจะนำมาปรุงเป็นอาหาร ต้องผ่านการเน่าเสียชนิดที่เรียกว่าเน่าจนเกินเน่า ซึ่งการนำเสนอแบบห่ามๆ ในครั้งนั้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ชม โดย “ภัณฑารักษ์” ทั้ง 3 คนกล่าวถึงหัวใจในการสร้างสรรค์นิทรรศการให้ประสบความสำเร็จเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกครั้งเมื่อเปิดนิทรรศการแล้วพวกเขาจะเข้าไปแอบดูผู้ชมตามจุดต่างๆ คอยฟัง และดูพฤติกรรมของผู้ชม ว่าสนใจอะไร ดู อ่าน หยุด ตำหนิ หรือชื่นชมตรงจุดไหน เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบและวิธีการนำเสนอในครั้งต่อไปให้สอดรับความพฤติกรรมและความต้องการของผู้ชมให้มากยิ่งขึ้น “ภัณฑารักษ์เป็นอาชีพที่สอนกันไม่ได้ เพราะการทำงานแต่ละครั้งไม่มีอะไรที่เหมือนเดิม มันเหมือนกับการทำงานวิจัยใหม่ทุกครั้ง เบื้องหน้าย่อมดูสนุกและสวยงาม ในขณะที่เบื้องหลังค่อนข้างโหดร้าย ไม่ได้มีต้นแบบให้ใครสามารถทำตามได้ เพราะหัวข้อมักเปลี่ยนตลอด แต่ทุกคนก็สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และสะสมประสบการณ์ให้เพิ่มพูน ที่สำคัญคือต้องลองผิดลองถูกและแก้ไข” พาฉัตรกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานในสาขาอาชีพนี้ “นักจัดการความรู้” หรือ “ภัณฑารักษ์” นับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เพราะห้วงเวลานับต่อจากนี้ พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้หลายๆ แห่งทั่วประเทศ กำลังยกระดับและพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างรื่นรมย์สำหรับผู้คนในสังคมทุกเพศวัย Museum Culture จะเกิดขึ้นในสังคมได้หรือไม่ ค่านิยมหรือทัศนคติของคนไทยต่อพิพิธภัณฑ์จะเปลี่ยนไปมาน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งคงต้องฝากความหวังไว้ที่ “ภัณฑารักษ์” รุ่นใหม่นับจากนี้.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ