นักดื่มมีเสียว เสี่ยงป่วย "กระดูกหัวสะโพกตาย"

ข่าวทั่วไป Thursday September 3, 2015 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--PRAD นพ.พิธิณัฎฐ์ มังคลานนทชัย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี2 ปัจจุบันนี้ การแพทย์มีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้ประชากรไทยมีอายุยืนเพิ่มขึ้น และเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพจึงพบได้มากขึ้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ โรคที่ทำให้เกิดข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทยกันครับ นพ.พิธิณัฎฐ์ มังคลานนทชัย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี2 ภาวะกระดูกหัวสะโพกตาย เป็นโรคหนึ่งที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดภาวะข้อสะโพกเสื่อมในคนไทย ช่วงอายุ 40-65 ปี โดยที่เซลล์กระดูกในหัวสะโพกมีการตายลง จากการขาดเลือดไปเลี้ยงที่เซลล์กระดูกส่งผลให้กระดูกที่ตาย ยุบตัว และเกิดข้อเสื่อมตามมา อาการสำคัญ ที่จะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือ ปวดขาหนีบ ปวดสะโพก หรือหน้าขา ที่ต้องระวังคือบางราย มีอาการปวดไปที่เข่า ทำให้ไปรักษาอาการปวดเข่าอยู่นาน จนหัวสะโพกยุบตัว ทำให้ขาสั้นลง หรือ เดินกะเผลกได้ ใครบ้างที่เสี่ยงจะเป็นโรคนี้ ? - ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ - ผู้ที่ทานยาที่มีสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เช่น ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ผู้ที่ซื้อยาทานเอง แบบยาลูกกลอน ยาต้มที่อ้างสรรพคุณรักษาได้ทุกโรค - มีประวัติได้รับอุบัติเหตุรุนแรงที่ข้อสะโพกมาก่อน เช่น ข้อสะโพกหลุด หรือ ข้อสะโพกหัก - โรคอื่นๆที่สัมพันธ์กับการเกิดกระดูกหัวสะโพกตาย เช่น SLE, Caisson disease, Sickle cell anemia การวินิจฉัย การตรวจทางรังสี (X-RAY) ช่วยในการวินิจฉัยภาวะกระดูกหัวสะโพกตาย ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงและอาการแสดงดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมีระยะการดำเนินโรค แบ่งออกเป็น 4 ระยะ - ระยะที่ไม่มีอาการ ไม่พบความผิดปกติจาก X-ray แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) - ระยะที่เริ่มมีการปวด เนื่องจากมีการตาย,หักของกระดูกด้านในหัวสะโพก - ระยะหัวสะโพกยุบตัว ทำให้มีขาสั้นลง และการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกลำบาก - ระยะเบ้าสะโพกเสื่อม มักมีการปวดมากจนเดินกะเผลก ภาวะกระดูกหัวสะโพกตาย สามารถพบว่าเป็นสองข้างได้ 20% ซึ่งในระยะแรก สะโพกข้างที่เป็นน้อยอาจจะยังไม่มีอาการ และไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจทางรังสี จึงต้องอาศัยการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งเห็นความผิดปกติได้ละเอียดกว่า ทำให้สามารถเริ่มการรักษาได้เร็ว เพื่อเก็บหัวสะโพกเดิมไว้ได้ การรักษา ขึ้นกับระยะของโรค ระยะที่ 1-2 ระยะที่หัวสะโพกยังคงรูปร่างเดิมอยู่ สามารถรักษาโดยการผ่าตัดระบายความดันในหัวสะโพก (core decompression) เพื่อรักษาหัวสะโพกเดิมไว้ โดยในช่วงแรกหลังผ่าตัด จะต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อไม่ลงน้ำหนักที่สะโพกข้างนั้น ให้สะโพกข้างนั้นได้มีการฟื้นฟูสภาพ และลดโอกาสการยุบตัวของกระดูกหัวสะโพก ระยะที่ 3-4 เมื่อหัวสะโพกมีการยุบตัวหรือเสื่อมแล้ว การรักษาจะเป็นการผ่าตัด เปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (hip arthroplasty) เพื่อทดแทนหัวสะโพกเดิมที่ทำให้เกิดอาการปวด, สูญเสียการเคลื่อนไหวไป ซึ่งถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ให้ผลการรักษาที่ดีมากในปัจจุบัน โดยสรุปจะเห็นว่า โรคนี้เป็นแล้ว การรักษาหลักจะเป็นการผ่าตัด เนื่องจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การไม่ลงน้ำหนักขาข้างที่เป็นโดยใช้ไม้ค้ำยัน, การทานยา ไม่สามารถหยุดการดำเนินโรคได้ ทำให้หัวสะโพกมีการยุบตัว และเกิดข้อสะโพกเสื่อมตามมา และยาบางตัวยังไม่มีข้อมูลวิจัยสนับสนุนการใช้มากพอ ทำให้แนวทางการรักษาในปัจจุบัน จึงแนะนำไปในทางการผ่าตัดรักษา ซึ่งขึ้นกับระยะของโรคขณะที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ดังนั้น หากท่านมีอาการปวดบริเวณสะโพก หรือขาหนีบ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ เพื่อเก็บรักษาข้อสะโพกที่ดีไว้กับท่านต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ