4.5 ปีความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรป นำหลักเศรษฐศาสตร์มาสู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ

ข่าวทั่วไป Monday September 14, 2015 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ทำพิธีปิดโครงการเพิ่มศักยภาพการใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์เพื่อคงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ (ECO-BEST) ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างสหภาพยุโรป รัฐบาลไทย และรัฐบาลเยอรมัน ที่เน้นการแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างเครื่องมือทางการเงินให้เป็นแรงจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 4.5 ปี ของความร่วมมือ ECO-BEST ได้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแนวคิดเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (TEEB: The Economic of Ecosystem and Biodiversity) และผลักดันให้มีการนำแนวคิด TEEB ไปสู่การสร้างเครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ได้จริง โครงการ ECO-BEST ดำเนินงานโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมเฮล์มฮอลท์ซ (Helmholtz Centre for Environmental Research - UFZ) ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 และได้สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า "ความพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติจะประสบความสำเร็จได้ หลายๆ ฝ่ายต้องช่วยกัน สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในท้องถิ่นร่วมบำรุงรักษาระบบนิเวศตามธรรมชาติให้มากที่สุด โครงการ ECO-BEST ได้ช่วยสร้างความเข้าใจ เรื่อง TEEB ซึ่งแม้จะเป็นศัพท์คำใหม่ๆ ในวงการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเรา แต่มีประโยชน์มากเพราะเป็นแนวคิดที่ทำให้คำว่า "การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ" เกิดเป็นรูปธรรมได้จริง เริ่มจาก ค้นหาว่าใครคือผู้ได้ประโยชน์จากป่า น้ำ หรือทะเล และนำประโยชน์เหล่านั้นมาออกแบบและค้นหาความเป็นไปได้ว่า คนที่ได้ประโยชน์นั้นๆ พร้อมร่วมแบ่งเบาภาระของชุมชนที่ร่วมทำให้ระบบนิเวศนั้นๆ คงอยู่ได้อย่างไร ซึ่งแนวคิด TEEB นี้สามารถประยุกต์กับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนหรือและการทำกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะใครก็ตามที่นำ TEEB เข้าไปร่วมวิเคราะห์ในกระบวนการผลิตและให้บริการของธุรกิจตน จะสามารถลดความเสี่ยงในการประกอบการได้และยังช่วยการวางแผนกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่เป็นแบบ In-process CSR หรือเป็น SCR (Strategic Corporate Responsibility) อย่างมียุทธศาสตร์ก็ว่าได้" "ผลงานที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของ ECO-BEST คือ การสร้างเครื่องมือเศรษฐศาสตร์ให้ผู้ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศ มีส่วนร่วมแบ่งเบาภาระในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ในพื้นที่นำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ 1) หมู่บ้านปางมะโอ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งบุคลากรของสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (Highland Research and Development Institute: HRDI) เข้ามาเรียนรู้กับ ECO-BEST แล้วนำความรู้ที่ได้ ไปหารือกับชาวบ้านผู้อนุรักษ์ป่าต้นน้ำเพื่อค้นหาและสร้างกลไกเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม ผลลัพธ์วันนี้ คือ ท่านสามารถร่วมแทนคุณแก่ผู้ที่ช่วยบำรุงรักษาแหล่งต้นน้ำปิง โดยการซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟปางมะโอได้ ในพื้นที่นำร่องที่ 2) ต.บุพราหมณ์ จ.ปราจีนบุรี เป็นการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในแนวกันชนของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้เกิดเป็น "ทางเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับอุทยานแห่งชาติทับลาน" ผ่านการซื้อสติ๊กเกอร์และผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญญลักษณ์ เพื่อระดมทุนเข้ากับ "กองทุนอนุรักษ์มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่" นำรายได้ไปช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในรูปตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูกหรือเปลี่ยนพื้นที่เกษตรของตน กลับคืนให้เป็นระบบนิเวศทุ่งหญ้าผสมป่าลาน ให้เหมาะกับการหากินและพักอาศัยของสัตว์ป่า หรืออาจทำให้เกิดการข้ามไปมาของสัตว์ป่าระหว่างป่าเขาใหญและป่าทับลานได้ แนวเชื่อมต่อนี้จะช่วยลดโอกาสการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันของสัตว์ป่า และยังเพิ่มความเป็นไปได้ที่ประชากรเสือจะกระจายคืนกลับสู่ป่าเขาใหญ่อีกด้วย และพื้นที่ที่ 3 คือ ลุ่มน้ำย่อยคลองท่าดี จ.นครศรีธรรมราช เป็นความร่วมมือของ ECO-BEST กับภาคีต่างๆ ในนครศรีธรรมราช พัฒนาให้เกิด "กองทุนแทนคุณบริการระบบนิเวศลุ่มน้ำย่อยคลองท่าดี" ซึ่งนับว่า เป็นกลไก PES - Payment for Ecosystem Service ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแห่งแรกของไทยทีเดียว หลักการของกองทุนนี้ คือ ผู้ได้รับประโยชน์จากการลดลงของภาวะน้ำแล้งและน้ำหลากในตัวเมืองนครศรีธรรมราชและพื้นที่ข้างเคียง ช่วยจ่ายค่าบำรุงระบบนิเวศคลองท่าดี ผ่านการประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นทุน นำไปสร้างเป็นแรงจูงใจทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินให้แก่เกษตรกรหรือเจ้าของที่ดิน ผู้บำรุงรักษาให้ที่ดินของตนมีไว้ซึ่งต้นไม้ที่มีรากแก้ว ให้ที่ดินของตนมีผิวดินที่เกื้อกูลใหน้ำฝนหรือน้ำที่หลากมาไหลซึมลงสู่ดินและกักเก็บน้ำไว้ในดินได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศิริพร ตรีพรไพรัช, ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ GIZ โทรศัพท์ 66 2 6129273 ต่อ 36 E-mail: siriporn.treepornpairat@giz.de

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ