ก.ไอซีที ชูเทคโนโลยี GNSS ยกระดับภารกิจด้านการจัดการภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 22, 2015 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--ครีเอทีฟ เอเจนซี่ กระทรวงไอซีที เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถของระบบสื่อสารแบบควบรวม ชูเทคโนโลยีระบุพิกัดจากดาวเทียมหลายระบบ (GNSS) ยกระดับภารกิจด้านการจัดการภัยพิบัติของชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นางสาวมาลี วงศาโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการเพิ่มสมรรถนะของระบบสื่อสารแบบควบรวม ด้วยเทคโนโลยีระบุพิกัดจากดาวเทียมหลายระบบ เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการจัดการด้านภัยพิบัติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ณ ห้องแกรนด์ C โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Space Cooperation Organization : APSCO) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548 พร้อมกับอีก 7 ประเทศ ได้แก่ จีน ปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย อิหร่าน มองโกเลีย และเปรู เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ การศึกษา การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนาและสาธิต การประยุกต์ใช้งานอุปกรณ์รองรับการทำงาน สำหรับการจัดการในภาวะฉุกเฉินและการช่วยเหลือในภาวะภัยพิบัติ (โครงการ EMDR) ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้งานจากข้อมูลดาวเทียมระบุพิกัดแบบหลายระบบ (Global Navigation Satellite System : GNSS) มาใช้เพื่อการระบุพิกัดอย่างแม่นยำในการแจ้งเหตุภัยพิบัติ เส้นทางอพยพ การเข้าให้ความช่วยเหลือ และอื่นๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยเหลือ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการดังกล่าว กระทรวงไอซีทีเห็นว่านอกเหนือจากการเข้าร่วมสาธิตระบบ EMDR ในฐานะผู้ใช้งานขององค์กร APSCO แล้ว ประเทศไทยควรริเริ่มการวิจัย ออกแบบ และพัฒนาระบบในฐานะผู้พัฒนาระบบ เพื่อให้มีระบบที่มีศักยภาพต่อการใช้งานที่เหมาะสม สามารถควบรวมการสื่อสารในพื้นที่ประสบภาวะภัยพิบัติและรองรับความต้องการสื่อสารพื้นฐานทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันสามารถรองรับการระบุพิกัดที่แม่นยำจากเทคโนโลยี GNSS โดยผ่านระบบเว็บเซอร์วิส เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ด้วยข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ทันสมัยและใช้งานได้ง่าย ต่อมาในปี 2552 กระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการสร้างต้นแบบระบบการสื่อสารแบบควบรวมด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล เพื่อใช้ประสานงานหรือเชื่อมโยงการสื่อสารภายในพื้นที่ และสามารถสื่อสารออกนอกพื้นที่ได้โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถรองรับการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์แบบประจำที่ รวมถึงอุปกรณ์สื่อสารทางเสียงอื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ด้วยเทคโนโลยี Voice over Internet Protocol (VoIP) เป็นการสถาปนาการสื่อสารที่เป็นเอกภาพในลักษณะของ Single Command ในภาวะภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพระดับหนึ่งด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม หรือผ่านช่องทางอื่นๆ ที่ยังสามารถใช้งานได้ในขณะนั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จของระบบการสื่อสารแบบควบรวมให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือ APSCO กระทรวงไอซีทีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการปรับปรุงระบบด้วยเทคโนโลยี GNSS และระบบ GIS โดยการปรับปรุงและเพิ่มเติมฟังก์ชันการทำงานทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้สามารถรองรับการทำงานที่สำคัญเพิ่มเติม อาทิ การระบุตำแหน่งที่เกิดภัยพิบัติ การวางแผนระบบสื่อสาร การให้ข้อมูลการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลเส้นทางอพยพ ข้อมูลพื้นที่ประสบภัยและการแจ้งเตือนภัย ซึ่งจะทำให้ระบบดังกล่าวมีศักยภาพในการสนับสนุนภารกิจในการจัดการด้านภัยพิบัติของประเทศได้ดียิ่งขึ้น "การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอองค์ความรู้จากการพัฒนาระบบสื่อสารแบบควบรวมด้วยเทคโนโลยี GNSS แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถต่อยอดและพัฒนาปรับปรุงให้ตอบสนองความต้องการในอนาคต เพื่อนำเสนอผลการพัฒนาระบบสื่อสารแบบควบรวมด้วยเทคโนโลยีระบุพิกัดจาก GNSS และสาธิตการใช้งานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามาถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการภัยพิบัติ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกันได้ในอนาคต รวมทั้งเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อใช้ปรับปรุงสมรรถนะของระบบสื่อสารแบบควบรวม ด้วยเทคโนโลยี GNSS ให้ดียิ่งขึ้น" นางสาวมาลี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ