รมว.พม. ลงพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบ ที่ จ.ยะลา พร้อมลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมสภาพความเป็นอยู่ของผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์ อีกทั้งมอบเอกสารสิทธ์ที่ดิน (น.ค.๓) และเงินทุนประกอบอาชีพให

ข่าวทั่วไป Tuesday September 29, 2015 16:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๒๙ ก.ย. ๕๘) เวลา ๑๐.๐๐ น. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวจำนวนมาก ในครั้งนี้ ตน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ลงพื้นที่จังหวัดยะลาเพื่อเข้าร่วมการประชุมกับหัวหน้าหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด นิคมสร้างตนเอง ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สถานสงเคราะห์เด็กชาย และบ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมอบนโนบายและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินงาน ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้เดินทางไปลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อตรวจเยี่ยมและติดตาม การดำเนินงานของนิคมสร้างตนเองรัตภูมิ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องประชาชนบุกรุกที่ดินสงวนของรัฐ โดยการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้มีความมั่นคงด้านที่ทำกินและที่อยู่อาศัย สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนี้ มีสมาชิกนิคม จำนวน ๑,๐๓๒ ราย เนื้อที่ ๑๗,๑๘๗ ไร่ โดยออกเอกสารสิทธิที่ดิน (น.ค. ๓) จำนวน ๗๒๐ แปลง เนื้อที่ ๙,๖๕๙ ไร่ และเอกสารสิทธิที่ดิน (น.ค. ๑) จำนวน ๖๑๘ แปลง เนื้อที่ ๔,๘๔๘ ไร่ ทั้งนี้ ตนได้มอบเอกสารสิทธิที่ดิน (น.ค.๓) ให้แก่สมาชิกนิคม จำนวน ๗๑ ราย ประกอบด้วยสมาชิกนิคมสร้างตนเองรัตภูมิ จำนวน ๖ ราย และสมาชิกนิคมฯ จังหวัดสตูล จำนวน ๖๕ ราย อีกทั้งมอบเงินทุนประกอบอาชีพพร้อมปัจจัยการผลิตแก่กลุ่มอาชีพ จำนวน ๖ กลุ่ม รวม ๑๔๐ ราย "ในช่วงท้ายของการลงพื้นที่ครั้งนี้ ตนได้เดินทางไปเยี่ยมและมอบของใช้ที่จำเป็นแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ พร้อมตรวจสภาพความเป็นอยู่และพื้นที่ที่ปรับปรุงเพื่อรองรับการดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้มีความเหมาะสม และปลอดภัย โดยคำนึงถึงด้านมนุษยธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล จากนั้น เข้าร่วมการประชุมกับหัวหน้าหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ในจังหวัดสงขลา เพื่อมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ณ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดสงขลา" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ