ปภ. ประสาน 10 จังหวัด ภาคกลาง และภาคตะวันออก รับมือภาวะฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 10 – 11 ต.ค.58

ข่าวทั่วไป Monday October 12, 2015 08:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2558 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง กรณีสถานการณ์รุนแรง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานอพยพและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี พบว่า เกิดภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร และหลายพื้นที่มีปริมาณฝนสะสมมากอยู่แล้ว อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มได้ ในช่วงวันที่10 – 11 ตุลาคม 2558 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน10 จังหวัด พื้นที่เสี่ยง แยกเป็น ภาคกลาง 2 จังหวัด ประกอบด้วย สระบุรี ลพบุรี ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ตราด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล ที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน พื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย โดยประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงอาสาสมัคร พร้อมตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำในเขตเมืองมิให้มีสิ่งของหรือวัสดุอุดตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝายอ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ น้ำตก ชายฝั่งทะเล หากอยู่ในสภาพ ไม่ปลอดภัยให้พิจารณาแก้ไขและสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราว กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ชาวเรือและชาวประมงควรระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ