ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” ที่ “BBB+” และเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 15, 2015 08:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" ด้วย โดยแนวโน้มที่ปรับใหม่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดการณ์ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่อ่อนแอลงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนของบริษัท ตลอดจนอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ และประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรระดับราคาปานกลางถึงต่ำ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูง ตลอดจนความกังวลในภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รายได้ของบริษัทยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2,500-3,000 ล้านบาทในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในช่วงที่เพิ่มสูงขึ้น หากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอีกก็อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงได้ในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนไม่เพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน บริษัทลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 นายทวีศักดิ์ วัชรรัคคาวงศ์และนายไชยยันต์ ชาครกุลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 63% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทเน้นพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ โดยราคาสินค้าของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ที่ 2-5 ล้านบาทต่อยูนิต โครงการบ้านจัดสรรยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80%-95% ของรายได้รวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มขยายธุรกิจไปสู่การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงปลายปี 2554 โดยคอนโดมิเนียมของบริษัทมีราคาขายเฉลี่ยที่ 1.9 ล้านบาทต่อยูนิต นอกจากนี้ บริษัทยังขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างจังหวัดในช่วงปลายปี 2555 โดยโครงการในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวน 41 โครงการ โดย 80% ของมูลค่าโครงการทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด โครงการทั้งหมดของบริษัทมีมูลค่าเหลือขายประมาณ 15,000 ล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) โดย 60% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมดอยู่ในโครงการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นยอดขายที่รอรับรู้รายได้จากโครงการบ้านจัดสรรซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ในช่วงที่เหลือของปี 2558 รายได้ของบริษัทต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2,500-3,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 2,300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556-2557 รายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ 798 ล้านบาท ลดลง 39% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้จากทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมลดลง 15% และ 89% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ในขณะที่รายได้จากทั้งโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลและโครงการในต่างจังหวัดก็ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เช่นกัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทลดลงเหลือ 21% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 จาก 24%-25% ในช่วงปี 2556-2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 20% เมื่อพิจารณาถึงการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องในการขยายธุรกิจ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเท่ากับ 35% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายโครงการของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าระหว่างการขยายธุรกิจ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอาจเพิ่มขึ้นอีก ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างคงที่ทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงเหลือ 11% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จาก 21% ในปี 2557 และ 28% ในปี 2556 ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงเหลือ 6-7 เท่าในช่วงปี 2557 ถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 จาก 15 เท่าในปี 2556 และ 8 เท่าในปี 2555 สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 808 ล้านบาท ในขณะที่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีเงินสดในมือรวมกับวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ซึ่งไม่มีเงื่อนไขในการเบิกจำนวนประมาณ 2,100 ล้านบาท บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) อันดับเครดิตองค์กร: BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ