ก.ล.ต. เพิ่มทางเลือกใหม่ในการลงทุนโอนย้าย PVD ไป RMF ได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 10, 2015 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. หนุนให้ลูกจ้างมีทางเลือกออมเงินอย่างต่อเนื่อง สามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หากนายจ้างเลิกกองทุน หรือลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการออมการลงทุนใน ระยะยาว แต่ที่ผ่านมาลูกจ้างประสบปัญหากรณีนายจ้างเลิกกิจการ หรือย้ายงานไปที่นายจ้างใหม่ที่ไม่มี PVD หรือนายจ้างเดิมจำกัดระยะเวลาคงเงิน ทำให้ลูกจ้างต้องนำเงินออกจาก PVD ก่อนเกษียณ และอาจต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก ก.ล.ต. จึงผลักดันให้เกิดทางเลือกใหม่ สามารถเลือกโอนย้ายเงินจาก PVD เดิมไปยัง RMF ได้ เพื่อช่วยให้ลูกจ้างสามารถออมเงินต่อเนื่องได้เท่าที่ต้องการ ลูกจ้างที่โอนเงินจาก PVD ไปไว้ที่ RMF ตามเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะได้รับประโยชน์จากการออมเงินต่อเนื่องในระยะยาว มีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับการคงเงินไว้ในPVD คือไม่ถูกบังคับให้ต่อเนื่องเหมือน RMF ทั่วไป สามารถนับอายุสมาชิก PVD ต่อเนื่องกับ RMF ได้ เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีเมื่อมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด โดยเงิน PVD ที่โอนไปนี้ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลประจำปี ในเบื้องต้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด พร้อมที่จะรับโอน PVD ไปยัง RMF ที่มีอยู่เดิม โดยจะมีระบบแบ่งแยกบัญชีและทะเบียนผู้ถือ หน่วยลงทุนออกจาก RMFปกติ ในขณะที่บริษัทจัดการกองทุนรวมอื่น ๆ คาดว่าจะทยอยปรับปรุงระบบงานภายในเพื่อรองรับการบริการนี้ตามมา การปรับเกณฑ์ครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เพื่อรองรับเรื่องการโอน PVD ไป RMF ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 4 ซึ่งร่างประกาศจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป "ก.ล.ต. ส่งเสริมให้คนไทยมีการออมและลงทุนในระยะยาว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงหลังเกษียณอายุ การแก้ไขหลักเกณฑ์รองรับการโอนเงินจาก PVD ไป RMF นี้ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้"นายรพีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ