พีอีเอ ร่วมกับ นีโอ เปิดนวัตกรรมประหยัดพลังงานให้ชมวันนี้ ในงาน PEA presents EcoLightTech Asia 2015

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 20, 2015 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--มาร์เก็ต-คอมส์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ พีอีเอ ร่วมกับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอและสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ประกาศศักยภาพประเทศไทยศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน จัดพิธีเปิด 3 งานใหญ่ PEA presents EcoLightTech Asia, Solar-Tech และ C-Tech 2015ท่ามกลางผู้ประกอบการด้านการประหยัดพลังงานจากทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมแสงสว่าง ระบบทำความเย็น และพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปเข้าชมได้แล้ววันนี้ ถึง 21 พฤศจิกายนพ.ศ. 2558 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประธานในพิธีเปิดงาน PEA presents EcoLightTech Asia, Solar-Tech และ C-Tech 2015 พร้อมด้วยผู้สนับสนุนและคณะผู้จัดงาน นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท เอ็น.ซี.ซี. และดร. ดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกกว่า 100 ราย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า พีอีเอ ในฐานะผู้นำการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบองค์กรประหยัดพลังงาน การจัดงาน PEA presents EcoLightTech Asia อย่างต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ได้พัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลัก นั่นคือ ผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการประหยัดพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบทำความเย็นในการผลิต และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อันสะท้อนเป็นแนวคิดหลักของงาน คือ "นวัตกรรมและเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเพื่อผู้ประกอบการ" การจัดงานครั้งนี้ ได้รวบรวมนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ และวิทยาการด้านการประหยัดพลังงานที่มีคุณภาพสูงให้แก่ผู้ประกอบการไทย พีอีเอ คาดว่าจะมีผู้สนใจร่วมชมงานกว่า 5,000 รายจากทั่วโลก และเกิดมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 200 ล้านบาท รวมทั้ง เป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และประชาชน ให้ได้มีโอกาสได้เข้าถึงเทคโนโลยีและวิทยาการด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ภายในอุตสาหกรรมและองค์กร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดต้นทุนการบริหารงาน ที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางเวทีการค้าและนวัตกรรมประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง ตลอดจนส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและเป็นรากฐานของการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นางสาวบุษยา ประกอบทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ ในฐานะผู้บริหารจัดงาน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจเข้าร่วมแสดงงาน จากเป็นผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ TP Halo, SWEEO, Gunkul, Unitrio, Astronogy, Clenergy, Nex Inotec, Eve Lighting, CM Lighting, Mitsubishi, Haier, Climaveneta รวมทั้ง ผู้เข้าชมงานจากประเทศอาเซียน และ AFTA ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมชมงาน เช่นเดียวกับผู้เข้าชมงานภายในประเทศที่ลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้า คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกกว่า 5,000 รายตลอดการจัดงานครั้งนี้ นวัตกรรมที่น่าสนใจในปีนี้ ได้แก่ • บริษัท อีฟไลท์ติ้ง จำกัดผู้นำด้านการผลิตหลอดแสงสว่างและผลิตภัณฑ์ LED ของประเทศไทย ได้นำ LED DOB Solution เป็นนวัตกรรมล่าสุดของหลอดประหยัดพลังงาน ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวแปลงกระแสไฟ เพราะทุกอย่างได้รวบรวมอยู่ใน chip ประมวลผลในแผง LED แล้ว ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้งานได้ทันที ทั้งในพื้นที่ขนาดเล็กหรือมีข้อจำกัด • บริษัท ทีพี ฮาโล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย LED Packing chip รายแรกของประเทศไทย ได้นำ LED Chip สำหรับการใช้งานเฉพาะด้านมาจัดแสดง อาทิ การใช้ LED สำหรับการไล่แมลงศัตรูพืช การไล่แมลงสำหรับครัวเรือน การเพาะปลูกด้านเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น • บริษัท ดีเอ็มเอสสกินส์ไลฟ์ จำกัดผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลอดประหยัดพลังงาน SWEEO ได้นำนวัตกรรมหลอด LED ร้องเพลงได้ และหลอด LED อัจฉริยะเปลี่ยนสีตามอารมณ์ ควบคุมผ่านระบบสมาร์ทโฟน มาจัดแสดงให้ชมเป็นครั้งแรก • บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค กันยงวัฒนา จำกัด ได้นำนวัตกรรมระบบปรับอากาศ VRF หรือ City Muli ที่ควบคุมด้วยระบบ Inverter 100% ประหยัดหลังงานสูงสุดและเหมาะสำหรับการใช้งานในอาคารทุกประเภท • บริษัท ยูนิทริโอ เทคโนโลยี จำกัด ผู้จัดจำหน่ายGrid Connected PV Inverter ภายใต้แบรนด์ Ablerex แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยเหมาะสำหรับ SolarRoof ที่สามารถผลิตได้มากกว่า Inverter ทั้วไป นอกจากนี้ ภายในงานยังมีไฮไลท์ที่น่าสนใจอีก 3 รายการ ที่ไม่ควรพลาดชม ได้แก่ Energy-Saving Showcaseพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีประหยังพลังงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางหรือตัวอย่างให้แก่ผู้สนใจนำไปประยุกต์ปรับใช้จริง ควบคู่ไปกับการจัดงานสัมมนาเชิงเทคนิคด้านการประหยัดพลังงานกว่า 10 หัวข้อที่น่าสนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และคลินิกประหยัดพลังงาน ศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจที่ต้องการประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งในระบบอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกด้วย ดร. ดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวเสริมว่า ส่วนการจัดงานSolarTech 2015 สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้ประกอบการภายในสมาคมฯ เข้าร่วมแสดงนวัตกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์รวมกว่า 30 หน่วยงาน เป้าหมายครั้งนี้ สมาคมฯ ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานหรือชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่สนใจในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในแบบบนหลังคาหรือภาคพื้นดิน เพราะการติดตั้งต้องพิจารณาปัจจัยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของพื้นที่ติดตั้งว่าจะสามารถรับน้ำหนักได้มากน้อยเพียงใด ตำแหน่งของพื้นที่ตั้งต่อการรับแสงอาทิตย์ในการผลิตพลังงาน การคำนวณขนาดพื้นที่และการลงทุน ตลอดจนโอกาสในการได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงิน เป็นต้น หากกลุ่มเป้าหมายได้พิจารณาถึงความพร้อมและปัจจัยต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว เมื่อภาครัฐได้ออกนโยบายเปิดรับซื้อหรืออนุมัติเรื่องการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาแบบเสรี ก็จะสามารถเข้าสู่โครงการดังกล่าวได้อย่างทันที เพราะมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ตลาดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มครัวเรือน สำหรับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนจำนวนมากตอบรับเข้าร่วมโครงการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของรัฐบาล ซึ่งได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีต้นทุนการติดตั้ง 1 กิโลวัตต์ ประมาณ 60,000-70,000 บาท ใช้พื้นที่ประมาณ 8-10 ตารางเมตร ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี ส่วนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ภาคครัวเรือนนั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกัน แต่ขนาดกำลังวัตต์อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะพื้นที่ โดยบ้านทั่วไปใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 30 ตารางเมตร ได้กำลังไฟ 3-5 กิโลวัตต์ คิดเป็นต้นทุนประมาณ 200,000-350,000 บาท เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้า 20-30% ของทั้งบ้าน นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ โดยในปีนี้ งาน PEA Presents EcoLightTech Asia 2015 เป็นงานแสดงสินค้าภายใต้อุตสาหกรรมพลังงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ASEAN Rising Trade Show หรือ ART แคมเปญ ทั้งนี้ ทีเส็บ ให้การสนับสนุนในการทำกิจกรรมการตลาดต่างประเทศของงาน PEA Presents EcoLightTech Asia เพื่อเจาะกลุ่มสมาคม สมาพันธ์ที่เกี่ยวข้อง ในการดึงกลุ่มนักธุรกิจเข้าร่วมงานและทำการจับคู่ธุรกิจภายในงานจากกลุ่มประเทศอาเซียน+6 และกลุ่มประเทศBIMSTEC ภายใต้ แคมเปญ "Connect Businesses" ทำให้การจัดงานครั้งนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศเป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 100 ล้านบาทจากการใช้จ่ายที่ยังไม่รวมมูลค่าการซื้อขายภายในงาน สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมทั้ง 3 งาน ได้ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ห้องเพลนารี ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.ecolight-tech.comwww.solartech-asia.comและ www.chillertech-asia.comหรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 02 203-4261-62

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ