วธ. พัฒนางานวิจัยด้านทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าให้กับประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday November 26, 2015 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เชิญหน่วยงานในสังกัด วธ. มาร่วมประชุมการดำเนินงานวิจัยด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยให้ทุกกระทรวงเร่งรัดพัฒนาการวิจัยและแนวทางประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงมีนโยบายให้ศึกษาวิจัยข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ทั้งในเรื่องของสินค้าทางวัฒนธรรม (CPOT) อุตสาหกรรมภาพยนตร์ งานศิลปะ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น โดยมอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานหน่วยงานต่างๆ อาทิ หอการค้าและสภาหอการค้า กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมศึกษาข้อมูลเพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลองค์ความรู้ดัชนีรายได้จากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งติดต่อสถาบันหรือองค์กรด้านวิชาการที่เปิดให้บริหารด้านการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ดำเนินการวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อให้ วธ. มีงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอก ภายใต้โจทย์การวิจัยแบบมุ่งเป้า มุ่งผลสัมฤทธิ์ และเอื้อกับข้อมูลที่ วธ. มีอยู่แล้ว เช่น ศูนย์ข้อมูลกลาง และข้อมูลของทุกหน่วยงาน ที่ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานของ วธ. มีความสำคัญในเรื่องการวิจัยเพื่อยกระดับให้เป็นงานวิจัยระดับประเทศได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศอีกทางหนึ่ง อาทิ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ที่มีงานวิจัยมากมาย และสามารถทำวิจัยเกี่ยวกับท่ารำ หรือการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งที่ผ่านมาบุคลากรของ สบศ. มีบทบาทในเวทีต่างๆมากมาย ก็สามารถวิเคราะห์ถึงความสนใจของประชาชนหรือการสร้างกระแสและกระตุ้นให้ทั่วโลกสนใจวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่เรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาเป็นประเด็นการทำวิจัยได้ เพราะขณะนี้มีการหารือกันเรื่องสิทธิของงานสร้างสรรค์ผ่านสื่อต่างๆ ในเวทีระดับยูเนสโกแล้ว ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนงานวิจัยในด้านความเป็นไทยสู่สากลก็มีความสำคัญมาก ซึ่ง วธ. จะเตรียมงบประมาณขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก วธ.ได้ผลักดันและดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยสู่นานาประเทศตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตนยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด วธ. กำหนดกรอบการวิจัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมวัฒนธรรม ให้มีความคลอบคลุมด้านมูลค่าหรือรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีการรวบรวมข้อมูลและการเก็บสถิติ เพื่อสามารถกำหนดทิศทาง และความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในภาพรวม และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในด้านทัศนศิลป์ เพื่อศึกษาการสร้างสรรค์ผลงาน การจัดการในแง่ธุรกิจ 2. ข้อมูลเชิงสถิติรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม 3. การวิจัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม แก้ไขปัญหาสังคม และการส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม โยเสนองานวิจัยที่สอดคล้องกับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยต่อไป 4. การวิจัยด้านภาพยนตร์ ควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์ เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อบ้าน และ5. การวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการเผยแพร่ให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจนำไปใช้ประโยชน์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ