กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กทม.ลงพื้นที่ชุมชนรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก

ข่าวทั่วไป Friday November 27, 2015 18:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กรมควบคุมโรค กรมควบคุมโรคเดินเคาะประตูบ้าน ร่วมกับ กทม. แนะหลัก 3 เก็บ เป็นแนวทางป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชน ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด 2. เก็บน้ำและปิดฝาให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้านและในชุมชน เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง พร้อมชูคันนายาวเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันไข้เลือดออก วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2558) ที่ชุมชนในซอยรามอินทรา 69 กรุงเทพฯ นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นางอุดมพร พัฒนโกวิท ผู้อำนวยการเขตคันนายาว และร้อยเอกสมภพ พงษ์คีรี ร.12 พัน 3 รอ. โรงเรียน อสส. ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งดารานักแสดงและสื่อมวลชน ร่วมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน โดยจัดกิจกรรมเคาะประตูตามบ้านให้ความรู้กับประชาชน นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกมีการระบาดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจากข้อมูลเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ 111,826 ราย เสียชีวิต 108 ราย เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วย 14,961 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่ม จำนวน 1,287 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ10-14 ปี รองลงมา คือกลุ่มอายุ20-24 ปี วันนี้กรมควบคุมโรคและกรุงเทพมหานคร ได้มีการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยจัดกิจกรรมเคาะประตูตามบ้าน ให้ความรู้กับประชาชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ณ บริเวณชุมชน ซอยรามอินทรา 69 กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันไข้เลือดออกจากทุกภาค เช่น สคร.13 กรุงเทพฯ สำนักอนามัย กทม. สำนักงานเขตคันนายาว ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ ร.12 พัน 3 รอ. โรงเรียน อสส. ข้าราชการและประชาชน ทำให้มีอัตราป่วยน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ เพียง 130 ต่อประชากรแสนคน และใน 4 เดือนที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพียง 22 ราย ทั้งนี้ ในกิจกรรมรณรงค์ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมอาสา ร่วมทีมแจกเอกสารความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงการป้องกันโรค แนะการมีส่วนร่วมในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งมีทีมเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติพ่นฆ่ายุงตามบ้านที่มีผู้ป่วยและรอบบ้านในรัศมี 100 เมตร พร้อมแนะหลัก 3 เก็บเป็นแนวทางในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด 2. เก็บน้ำและปิดฝาให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้านและในชุมชน เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง โรคไข้เลือดออกนั้น พบได้ทุกกลุ่มวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาการคือ มีไข้สูงและมักสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตัว เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ขอความร่วมมือประชาชนอย่าได้วางใจ หากมีไข้สูงตั้งแต่ 2 วันหรือมีอาการข้างต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาแก้ไข้กินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกได้ง่าย เช่น แอสไพริน และไอบูโพรเฟน หรือหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ผู้ป่วยต้องทายากันยุง ป้องกันยุงกัดและไปแพร่เชื้อให้คนรอบข้าง ซึ่งช่วงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับผู้ป่วยคือช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ถ้าผู้ป่วยซึมลงกินดื่มไม่ได้ มือเท้าเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้อง คือสัญญาณอันตรายของโรคนี้ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422./อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ