สพฉ.จับมือ อบจ.สงขลา ผนึกภาคืเครือข่ายพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ พร้อมบูรณาการศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสงขลา 1669 ศูนย์ควบคุมโทรทัศน์วงจรปิด ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธรสงขลา ไว้ในที่ที่เดียว

ข่าวทั่วไป Friday January 22, 2016 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เผยติดตั้ง CCTV ทั่วเมืองเพื่อเน้นการทำงานแบบเรียลทาม ระบุช่วยเหลือผู้ป่วยได้ตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดการสูญเสีย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขสงขลา ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และภาคีเครือข่าย จัดพิธีเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสงขลา 1669 ศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิดอบจ.สงขลา ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ประสบเหตุด่วนเหตุร้ายในจังหวัดสงขลาอย่างเต็มที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากล่าวว่า ยุทธศาสตร์จังหวัดสงขลา ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และนักท่องเที่ยว อีกทั้ง เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประตูสู่อาเซียน(ASEAN) เราจึงได้ดำเนินโครงการในหลากหลายรูปแบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตองค์ของประชาชนในจังหวัดสงขลา และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัดสงขลาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งกู้ชีพ" เราได้มีการพัฒนาในโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเรามีรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวนทั้งสิ้น 118คัน และจะดำเนินการให้ครบ ทุกตำบล ทั้งหมด 127 ตำบล ภายในปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้แล้วเรายังได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา บริหารจัดการเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เพื่อที่จะเข้าไปดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ต้นทางซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและมีคุณภาพมาตรฐาน และได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น โดยพวกเราได้การบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบของการทำงานใน 3 ศูนย์และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันนี้มี ซึ่งประกอบด้วย 1. ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดสงขลา 2.ศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิด อบจ.สงขลา 3.ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา "วัตถุประสงค์ในการดำเนินการของพวกเราคือ เราต้องการให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉิน และได้รับปฏิบัติการช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินทั้งเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากล่าว ด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มาตรา 33 วรรค 2 ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมสนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งอบจ.สงขลา ได้ดำเนินงานและบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล โดยจัดให้มีชุดปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ ร่วมกันกับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสงขลา 1669 โดยร่วมดำเนินงานกับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสงขลา โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลเอกชน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทรนอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ ในการทำให้เกิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินรวมเลขหมายเดียว เช่น ดับเพลิงกู้ภัย การแพทย์ฉุกเฉิน เหตุด่วนเหตุร้าย ระบบกล้องวงจรปิด "ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยนับว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา เมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย เพลิงไหม้ ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ประสบภัย สามารถได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย อันจะนำไปสู่พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนที่อยู่ในจังหวัดสงขลาให้ดีขึ้นมากด้วย" รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าว ด้านนพ. สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลากล่าวว่า ระบบที่เราได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเราสามารถรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้เมื่อปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีการบูรณาการการทำงานในลักษณะนี้เราสามารถรับรู้ข้อมูลการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนได้แบบเรียลทามในรูปแบบต้นทางซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษากับประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและจะทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมีมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ