ค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2558 : จาก 8 แหล่งข้อมูลที่มีการสำรวจเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาให้คะแนน ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 3 แหล่งข้อมูล คะแนนเท่าเดิม 4 แหล่งข้อมูล คะแนนลดลง 1 แหล่งข้อมูล

ข่าวทั่วไป Tuesday February 2, 2016 09:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วันนี้ (2๙ มกราคม 2559) เวลา 16.30 น. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงว่าตามที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2558 ไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 โดยประเทศไทยได้ 38 คะแนนเท่าปีที่ผ่านมา จากคะแนนเต็ม 100 และได้ลำดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และลำดับที่ 3 จาก 9 ประเทศอาเซียน นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. โดยคณะทำงานศึกษาดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ได้รายงานผลค่าคะแนน พร้อมวิเคราะห์ถึงสาเหตุการได้ค่าคะแนนดังกล่าว เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับทราบแล้ว ทั้งนี้ ในการให้ค่าคะแนน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้พิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 8 แหล่งข้อมูล สรุปได้ ดังนี้ ๑. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มี 3 แหล่งข้อมูล คือ ๑.๑ International Institute Management Development (IMD) : World Competitiveness Yearbook ได้ 38 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 คะแนน โดย IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3.ประสิทธิภาพ ของภาคธุรกิจ 4.โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ IMD จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี และในช่วงเวลาดังกล่าวของปี 2558 ประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้นใน 4 องค์ประกอบข้างต้น ๑.๒ World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Servey ได้ 43 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4 คะแนน โดย WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1.การคอร์รัปชัน 2.ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3.ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4.ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5.โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ที่ไม่เพียงพอ ว่าแต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งผลสำรวจในปี 2558 WEF รายงานว่าปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ 5 ด้านดังกล่าว ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคลดลงสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปี 2557 คือการคอร์รัปชัน โดยปี 2557 ระดับของอุปสรรคตัวนี้อยู่ที่ร้อยละ 21.4 แต่ในปี 2558 อุปสรรคตัวนี้เหลือเพียงร้อยละ 12.5 และอุปสรรคด้านความไม่มั่นคงของรัฐบาลลดลงเช่นกัน จากที่มองว่าเป็นอุปสรรคร้อยละ 21 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 18.1 ในปี 2558 รวมทั้ง อุปสรรคระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย โดยมองว่าเป็นอุปสรรคร้อยละ 12.7 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 12.3 ในปี 2558 ดังนั้น การที่นักธุรกิจมองว่า ปัจจัยเชิงลบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในประเทศไทยลดน้อยลง จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้ค่าคะแนน WEF เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ WEF จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – มิถุนายน ของทุกปี ๑.๓ Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 42 คะแนน เพิ่มขึ้น จากปีก่อน 7 คะแนน โดย PERC สำรวจนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติในแต่ละประเทศ เพื่อให้คะแนนเกี่ยวกับระดับปัญหาการทุจริตในประเทศที่เข้าไปทำงานหรือประกอบธุรกิจ ว่าลดลง เพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น ค่าคะแนนที่เพิ่มขึ้น น่าจะมาจากผลการสำรวจกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เห็นว่าปัญหาการทุจริตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรอิสระ รัฐบาล หน่วยงาน ของรัฐ และทุกภาคส่วน ได้แสดงเจตจำนง มีการบูรณาการและดำเนินการจัดการกับปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างขึ้น ทั้งนี้ PERC จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี ๒. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนเท่ากับปีก่อน มี 4 แหล่งข้อมูล คือ ๒.๑ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-BTI) ได้ 40 คะแนน เท่าปีก่อน โดย BF-BTI ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1.ด้านการเมือง 2.ด้านเศรษฐกิจ 3.ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF-BTI จะมีการวิเคราะห์ประเมินและเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุด คือ ปี 2557 ดังนั้น คะแนนปีนี้ จึงอาจใช้ข้อมูลจากฐานเดิมปี 2557 และครั้งต่อไปที่จะเผยแพร่ผล คือปี 2559 ๒.๒ International Country Risk Guide (ICRG) : Political Risk services ได้ 31 คะแนนเท่าปีก่อน โดย ICRG เป็นองค์กรแสวงหากำไร ให้บริการวิเคราะห์วิจัยและจัดอันดับสภาวะความเสี่ยงระดับประเทศ ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ใช้ข้อมูลรายงานความเสี่ยงด้านการเมือง มาประกอบการพิจารณาให้ค่าคะแนน ทั้งนี้ การคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง ICRG มุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยเฉพาะรูปแบบทุจริต ที่นักธุรกิจมีประสบการณ์ตรงและพบมากที่สุด นั่นคือการเรียกรับสินบน การเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า/ส่งออก การประเมินภาษี รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางธุรกิจกับการเมือง ทั้งนี้ ICRG มีการประเมินและเผยแพร่ผลทุก 1 ปี ครั้งล่าสุดเป็นการประเมินรอบเดือนสิงหาคม 2557 – สิงหาคม 2558 ๒.๓ Economist intelligence Unit (EIU) : Country Risk Rating ได้ 38 คะแนนเท่าปีก่อน โดย EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการ จากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงาน ของรัฐ ทั้งนี้ EIU จะมีการสำรวจเก็บข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – สิงหาคมของทุกปี ครั้งล่าสุดเป็นการรายงานเดือนสิงหาคม 2558 ๒.๔ Global Insight Country Risk Rating (GI) ได้ 42 คะแนนเท่าปีก่อน โดย GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญา และขอใบอนุญาต ทั้งนี้ GI ได้รายงานข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ดังนั้น ผลคะแนนของปี 2558 จึงอาจใช้ฐานข้อมูลดังกล่าว ๓. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 1 แหล่งข้อมูล คือ World Justice Project (WJP) : Rule of Law Index ได้คะแนน 26 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 18 คะแนน โดย WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ ๑.รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและถูกตรวจสอบได้ ๒.กฎหมายต้องเปิดเผย ชัดเจน มั่นคง ปกป้องสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน ๓.กระบวนการทางกฎหมายมีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ๔.การตัดสินคดีต้องมีความเป็นธรรม มีจริยธรรม มีความเป็นกลาง ซึ่งผลคะแนนที่ลดลงมากนี้ น่าจะมาจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือสภาพปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาที่มีอิทธิพลต่อตัวชี้วัดนี้ไม่น้อย ทั้งนี้ WJP จะมีการเก็บข้อมูลทุกปี ประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าค่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นของ ๓ แหล่งข้อมูลข้างต้น เป็นผลจากมุมมองของผู้บริหารระดับสูงและนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่กลับมาเชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เกิดเสถียรภาพ ความเสี่ยงทางการเมืองลดลง มีนโยบายชัดเจน ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ส่งผลต่อการรับรู้ในระดับนานาชาติในทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ไม่ใช่แค่เพียงการลดปัญหาการทุจริตเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม ที่ต้องรวมพลังสร้างสังคมที่ดี นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของการเก็บข้อมูลของเกือบทุกแหล่งข้อมูลข้างต้น องค์กรอิสระ รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วน จึงควรเร่งสร้างภาพลักษณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจในช่วงเวลานี้ไปพร้อมกัน รวมถึงการเผยแพร่เกี่ยวกับ พรบ.อำนวยความสะดวก มีการบังคับใช้ อย่างเป็นรูปธรรม และมีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสทุกหน่วยงานภาครัฐ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนกับประชาชน นักลงทุน หน่วยงาน/องค์กร สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ จะมีส่วนช่วยเพิ่มค่าคะแนน CPI ในปี 2559 ต่อไป และที่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสังคมที่ดีอย่างต่อเนื่องยั่งยืนทุกช่วงทุกเวลา
แท็ก ป.ป.ช.   ข้อมูล   Spa  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ