ซีพีเอฟ แนะเกษตรกรเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์ช่วงอากาศแปรปรวน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 2, 2016 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ซีพีเอฟ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ระบุอากาศแปรปรวน เกษตรกรต้องใส่ใจสุขภาพสัตว์เป็นพิเศษ ควบคู่กับการจัดการสภาพโรงเรือนเลี้ยงอย่างเหมาะสม พร้อมให้บริการสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพสัตว์อย่างครบวงจร น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ช่วงฤดูกาลที่อากาศแปรปรวนเช่นนี้ อาจส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียด และภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลง สัตว์เลี้ยงอาจเจ็บป่วยง่ายขึ้น ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องใส่ใจดูแลสัตว์เป็นพิเศษ ด้วยการปรับสภาพในโรงเรือนให้ดี และต้องเน้นการให้ความอบอุ่นแก่ตัวสัตว์โดยเฉพาะลูกสัตว์ อาทิ การใช้ผ้าม่านหรือกระสอบสำหรับบังลมรอบโรงเรือนโดยต้องมีการระบายอากาศ ส่วนในโรงเรือนปิดแบบอีแวปก็ควรกั้นผ้าหรือกระสอบเป็นระยะๆเพื่อไม่ให้มีลมโกรก และอาจเพิ่มไฟกกให้กับสัตว์ที่อายุยังน้อยเพื่อไม่ให้นอนสุมที่จะเสี่ยงต่อความเสียหายได้ ทั้งนี้ย้ำว่าไม่ควรสุมไฟให้ไก่เพราะอาจเกิดอันตรายได้ สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อหรือไก่กระทงที่ใช้แกลบรองพื้นในการเลี้ยง ต้องหมั่นกลับแกลบอย่างน้อย 1-2 วันต่อครั้ง เพื่อป้องกันการเก็บความชื้น ส่วนไก่ไข่ต้องจัดการกับมูลไก่ใต้กรงอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดผลกระทบจากแก๊สแอมโมเนีย แนะนำให้เพิ่มการให้อาหารมากขึ้น เพราะไก่จะนำพลังงานจากอาหารไปต่อสู้กับความหนาวเย็น นอกจากนี้ ต้องเข้มงวดกับการทำวัคซีนป้องกันโรคตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด และสามารถเพิ่มให้วิตามินละลายน้ำให้ไก่กินได้ตามสมควร น.สพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า ช่วงเดือนธันวาคม–มีนาคมของทุกปี เป็นช่วงการอพยพย้ายถิ่นของฝูงนกจากฤดูกาลของเขตหนาวในซีกโลกเหนือมายังประเทศในเขตอบอุ่นเช่นประเทศไทย ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีก จึงแนะนำให้เกษตรกรใช้มาตรการ การป้องกันตั้งแต่ต้นทาง และการเลี้ยงด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยมีข้อควรปฏิบิติสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อย เช่น เป็ดไร่ทุ่ง และไก่บ้านในช่วงนี้ว่า ควรนำสัตว์ปีกเข้าไปเลี้ยงภายในโรงเรือนที่มีตาข่ายปิดมิดชิดและมีหลังคาคลุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกจากฝูงนกอพยพ ควบคู่กับการให้น้ำของสัตว์ปีกจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 ppm หรือ ปริมาณน้ำ 1,000 ลิตรใช้คลอรีนออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 กรัม รวมไปถึงการพ่นยาฆ่าเชื้อในกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์เป็นประจำทุกวัน ที่สำคัญควรมีรองเท้าบูทสำหรับใส่ภายในโรงเรือนโดยเฉพาะ "สำหรับเกษตรกรที่สงสัยว่าสัตว์ของตนเอง เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโดยสังเกตจากการตายผิดปกติเกินร้อยละ 1 ของสัตว์ทั้งฟาร์มต่อวัน สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟเพื่อลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์และนำมาส่งตรวจที่สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก โดยจะทราบผลภายใน 1-2 วัน" น.สพ.นรินทร์ กล่าว ด้าน น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจสุกร ให้คำแนะนำด้านการจัดการสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรว่า ต้องควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนเลี้ยงสุกรให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่หนาวจนเกินไป โดยสังเกตง่ายๆ จากการนอนของสุกร ถ้าอุณหภูมิเหมาะสม สุกรจะนอนสบายใช้ด้านข้างตัวนอนราบกับพื้น หากอุณหภูมิต่ำเกินไปสุกรมักจะนอนบนขาตัวเอง มีอาหารหนาวสั่นหรือนอนสุมกันเป็นกอง นอกจากนี้ยังต้องควบคุมอย่าให้ภายในโรงเรือนเปียกชื้นหรือแฉะมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อุณหภูมิภายในลดต่ำลง ในกรณีที่อุณหภูมิในโรงเรือนต่ำลงมาก อาจใช้ผ้าม่านกั้นแนวลมที่จะเข้าโรงเรือนเพื่อไม่ให้ลมหนาวพัดผ่านตัวสุกรโดยตรง กรณีลูกสุกรอายุน้อยอาจทำกล่องกกและเพิ่มหลอดไฟกก หรือใช้วัสดุรองพื้นเช่น ไม้รองนอน แกลบ ขี้กก เป็นต้น แต่ต้องมั่นใจว่าวัสดุรองนอนเหล่านั้นปลอดจากเชื้อโรค นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมการให้อาหารให้เหมาะสม ด้วยการแบ่งมื้ออาหารให้มากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นการกินอาหารของสุกร สำหรับสัตว์กีบคู่ อาทิ โค กระบือ สุกร ช่วงนี้ต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) การป้องกันโรคนี้ทำได้โดยการทำวัคซีนตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำ และต้องป้องกันสัตว์พาหะจากภายนอกที่อาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงไม่อนุญาติให้คนภายนอกที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคจากฟาร์มอื่นเข้าฟาร์ม ที่สำคัญต้องไม่อนุญาตให้รถขนส่งสัตว์กีบคู่จากฟาร์มอื่นๆ ที่มีสัตว์อยู่บนรถขนส่งเข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด และในสุกรควรระวัง โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) เป็นพิเศษ สำหรับการป้องกันโรคควรมุ่งเน้นการควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนที่เหมาะสม กรณีเกิดโรคขึ้นในฟาร์มให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพสัตว์และขอคำแนะนำอย่างครบวงจร ได้ที่สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โทร 02-988-0670 ในเวลาทำการตั้งแต่ 08:30-18:00 น./

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ