เจาะลึกความแกร่งทนทานของกระบะท้ายฟอร์ด เรนเจอร์ ผ่านการทดสอบในสารคดีชุด ศาสตร์แห่งความแกร่ง

ข่าวยานยนต์ Wednesday February 3, 2016 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์ ณ ใจกลางของไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ บนถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ก่อสร้างและโครงสร้างเสาคอนกรีต ทีมวิศวกรของฟอร์ดและทีมขุดเจาะมืออาชีพเตรียมพร้อมทดสอบฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ โดยมีกองไม้ก่อสร้างห้อยอยู่เหนือกระบะท้ายของรถ ทันทีที่สิ้นเสียงนับถอยหลัง "สาม-สอง-หนึ่ง" ทีมวิศวกรได้ปลดตัวล็อคแม่เหล็กเพื่อปล่อยกองไม้หนัก 180กิโลกรัม ซึ่งแขวนอยู่ที่ความสูง 2.6 เมตร ลงมาบนกระบะท้ายของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ในการทดสอบเพื่อเผยถึงขีดสุดแห่งความแข็งแกร่งและทนทานของพื้นกระบะท้ายและช่วงล่างของฟอร์ด เรนเจอร์ ในสารคดีชุดScience of Tough (ไซแอนซ์ ออฟ ทัฟ) ศาสตร์แห่งความแกร่ง ของฟอร์ด ในการทดสอบนี้ กองไม้หนัก 180 กิโลกรัม ได้ตกกระแทกลงที่กระบะท้ายด้วยแรงที่ 36,150 นิวตัน ทำให้กองไม้มีแรงกระแทกหนักถึง 3,685 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าน้ำหนักจริงของกองไม้ถึง 20 เท่า โดยแรงกระแทกทำให้ระบบช่วงล่างหดตัวลง 127 มิลลิเมตรเพื่อรองรับแรงกระแทก ก่อนคืนกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมอย่างสบายๆ แรงกระแทกที่เทียบเท่าน้ำหนักถึง 3,685 กิโลกรัม จะกระจายน้ำหนักไปทั่วโครงสร้างกระบะท้าย ผ่านสปริงและแดมเปอร์ไปยังล้อ โดยเมื่อแรงกระแทกถ่ายลงผ่านล้อสู่พื้นแล้วจะมีน้ำหนักที่ 1,500 กิโลกรัม ซึ่งการออกแบบโครงสร้างกระบะท้ายของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ทำให้ช่วงล่างและล้อรถสามารถรองรับแรงกระแทกได้มากกว่า 2,000 กิโลกรัม "กระบะท้ายของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ผ่านการทดสอบวันนี้ไปอย่างสวยงาม" นายคอง ยิป วิศวกรของฟอร์ดประจำเมลเบิร์น ผู้ออกแบบโครงสร้างกระบะท้ายของฟอร์ด เรนเจอร์ กล่าว "เราดูการทดสอบแรงกระแทกของฟอร์ด เรนเจอร์ซ้ำไปมา และการทดสอบนี้ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า ฟอร์ด เรนเจอร์ ได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมให้แข็งแกร่งยิ่งกว่าที่ทุกคนคาดไว้" การทดสอบโดยใช้กองแผ่นไม้นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ทีมวิศวกรได้ปล่อยแท่นคอนกรีตหนัก 180 กิโลกรัม และท่อเหล็กหนัก 180 กิโลกรัม เพิ่มไปในกระบะท้าย ซึ่งสร้างแรงกระแทกถึง 1,700 และ 1,900 กิโลกรัม ตามลำดับ และการทดสอบยังคงดำเนินต่อไปโดยทีมงานได้ปล่อยกองท่อคอนกรีตหนัก 210 กิโลกรัมที่พันเข้าไว้กับลวดเหล็กตามลงไปอีก ทำให้แรงกระแทกนี้มีน้ำหนักมากกว่า 2,000 กิโลกรัม และฟอร์ด เรนเจอร์ ก็สามารถรับมือกับการทดสอบเหล่านี้ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เพื่อปิดท้ายบททดสอบสุดหฤโหด ทีมวิศวกรของฟอร์ดได้ทิ้งถุงปูนซีเมนต์น้ำหนัก 1,100 กิโลกรัม จากรถกระเช้าไฮดรอลิกลงบนกระบะท้าย ซึ่งเป็นน้ำหนักบรรทุกสูงสุดของฟอร์ด เรนเจอร์ และหลังจากตรวจสอบรัดสิ่งของที่บรรทุกไว้อย่างเรียบร้อยแน่นหนาแล้ว ฟอร์ด เรนเจอร์ ที่บรรทุกน้ำหนักอย่างเต็มพิกัดก็ออกวิ่งต่อไปได้ราบรื่น ก่อนจบวันทำงานสุดแกร่งของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ด้วยดี เกิดมาแกร่งด้วยนวัตกรรมโครงสร้างทางวิศวกรรม กระบะท้ายของรถกระบะทั่วไปนั้นมีการเสริมความแข็งแกร่งด้วยคานขวางเพื่อความทนทานและความสามารถในการทรงตัวเมื่อต้องบรรทุกของหนัก แต่สำหรับฟอร์ด เรนเจอร์ นั้น ได้รับการออกแบบด้วยนวัตกรรมโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ช่วยยกระดับความแข็งแกร่งและทนทานขึ้นไปอีกขั้น ด้วยดีไซน์ที่ผสานโครงสร้างคานขวางเสริมแรงและกำแพงด้านข้างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญกับการบรรทุกของหนัก รวมถึงแรงกระแทกจากที่สูง "การออกแบบโครงสร้างกระบะท้ายนี้ มีแรงบันดาลใจมาจากกระดูกซี่โครงของปลาวาฬ" นายยิป กล่าว "คานขวางเสริมแรงแต่ละเส้นทำหน้าที่คล้ายกับกระดูกซี่โครงหนึ่งอัน และเราเชื่อมกระดูกเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันกับโครงสร้างตัวถังรถ เหมือนกับที่กระดูกสันหลังเชื่อมกระดูกซี่โครงไว้ด้วยกัน เป็นโครงสร้างรวมที่สมบูรณ์และแข็งแกร่ง" บริเวณตอนหน้าของกระบะท้าย คานขวางจะวางยาวไปจนถึงด้านบนของแผงข้างกระบะ ในขณะที่ตอนหลังของกระบะท้ายนั้น คานขวางจะยาวไปจนถึงเสาด้านหลังและเชื่อมเข้าด้วยกันตลอดทั้งชิ้น สำหรับคานขวางตรงกลางทั้งสามชิ้นนั้น ส่วนหนึ่งของคานขวางสองชิ้นจะถูกเชื่อมเข้ากับแผงข้างกระบะ ซึ่งโครงสร้างทั้งหมดโดยรวมจะถูกเชื่อมเข้ากับแผงเหล็กอย่างแน่นหนาเพื่อความเสถียร นอกจากนี้ กระบะท้ายของฟอร์ด เรนเจอร์ ผลิตมาจากเหล็กกล้าที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ส่วนร่องที่พื้นกระบะก็ได้รับการออกแบบให้กว้างและลึกขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งแล้ว ยังช่วยลดทอนน้ำหนักรวมของแผงเหล็ก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้ด้วยเช่นกัน ในช่วงตลอดอายุการใช้งานของรถนั้น มีบริเวณ 2 แห่งบนกระบะหลังที่มักได้รับการใช้งานหนักกว่าส่วนอื่น คือ บริเวณมุมด้านหน้าใกล้ห้องโดยสาร เนื่องจากคนขับมักเลื่อนสิ่งของที่มีน้ำหนักมากไปด้านหน้า และบริเวณจุดยกของด้านท้าย เนื่องจากอยู่ด้านท้ายของรถซึ่งมีการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่มากกว่า สำหรับด้านหน้าของรถกระบะนั้น วิศวกรของฟอร์ดใช้ตัวยึดพิเศษ (หรือที่เรียกในช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่า "ตัวยึดรูปกบ" ตามรูปร่างตัวยึดที่คล้ายกบ) ที่ทำงานร่วมกับคานขวางชิ้นหน้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับน้ำหนักที่มุมด้านหน้าของพื้นกระบะ และที่บริเวณสำคัญอีก 5 แห่ง ได้แก่ บริเวณด้านหลังทั้งสองข้าง ตรงกลางของซุ้มล้อ และบริเวณพื้นที่แนวนอนด้านหลังห้องโดยสาร โดยใช้วิธีการเชื่อมเป็นจุดแบบสองแถวเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เทคนิคนี้ช่วยเพิ่มความทนทานให้กับพื้นกระบะ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการเย็บตะเข็บคู่เพื่อทำให้กางเกงยีนส์มีความทนทานในการใช้งานมากยิ่งขึ้น แทนที่จะใช้แผ่นเหล็กหลายๆ แผ่น เพื่อสร้างจุดยึดทางด้านหลัง ฟอร์ด เรนเจอร์ ใช้ตัวยึดพิเศษดังกล่าว 2 ตัว ร่วมกับคานขวางชิ้นหลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักให้ดียิ่งขึ้น โดยตัวยึดพิเศษซึ่งมีลักษณะคล้ายยานไท ไฟเตอร์ ในภาพยนตร์สตาร์วอร์สนี้ จะอยู่ด้านหลังกระบะทั้งฝั่งซ้ายและขวา ช่วยส่งผ่านและกระจายแรงกดจากน้ำหนักไปยังเหล็กขวางด้านหลังทั้งชิ้น รวมถึงเหล็กขวางส่วนแนวตั้งที่เชื่อมเข้ากับขอบด้านข้างของตัวกระบะด้วย "ในการใช้งานจริงนั้น ฟอร์ด เรนเจอร์ จะต้องเผชิญกับภารกิจที่หนักตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้น เราต้องมั่นใจว่า กระบะท้ายนั้นพร้อมที่จะรับมือกับการใช้งานหนักได้อย่างต่อเนื่อง" นายยิป กล่าว "และการทดสอบในวันนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของทุกสิ่งที่เราทุ่มเทในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และฟอร์ด เรนเจอร์ คือ รถกระบะที่เกิดมาแกร่งอย่างแท้จริง" ท่านสามารถรับชมบททดสอบเจาะลึกความแกร่งทนทานของกระบะท้ายฟอร์ด เรนเจอร์ จากสารคดีชุดScience of Tough หรือ ศาสตร์แห่งความแกร่ง ตอน "แกร่ง...บรรทุกหนัก" ได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=tak7umWxsBI

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ