สถานการณ์ด้านตะวันออก กทม. น้ำในคลองมีน้อย

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2016 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สำนักการระบายน้ำ นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่าขณะนี้ระดับน้ำในคลองต่างๆในพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เริ่มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรอบนอกที่ทำการเกษตรอาจประสบปัญหาภัยแล้งเร็วกว่าปกติ จากเดิมที่ในปีก่อนจะประสบปัญหาภัยแล้งประมาณช่วงเดือน เม.ย. แต่ในปีนี้อาจจะเกิดเร็วขึ้นเนื่องจากน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้อย การปล่อยน้ำให้ไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจึงมีปริมาณน้อยตามไปด้วยประกอบกับในช่วงนี้น้ำทะเลหนุนขึ้นมาในปริมาณที่สูงจนเกิดภาวะน้ำเค็มรุกขึ้นมาตั้งแต่ปากอ่าวไทยจนถึงช่วงเทเวศน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืชเกษตรและต้นไม้ ดังนั้น สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครจึงได้มีการปิดกั้นประตูระบายน้ำไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาเพื่อรักษาคุณภาพน้ำในคลองให้ประชาชนยังใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งก็อาจจะทำให้ปริมาณน้ำในคลองมีระดับต่ำลงไปเรื่อยๆ และอาจเกิดการเน่าเสียหรือส่งกลิ่นเหม็นได้เพราะไม่มีน้ำเข้ามาช่วยหมุนเวียน โดยการจะถ่ายเทไหลเวียนน้ำหรือเปิดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองเพื่อช่วยในการเจือจางความเน่าเสียก็เป็นไปได้ยากเนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับที่ต่ำและน้ำทะเลก็หนุนสูงซึ่งจะทำให้น้ำเค็มเข้ามาอยู่ตามคลองในพื้นที่กรุงเทพฯเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็จะพยายามนำน้ำจากแหล่งน้ำที่เก็บกักไว้หรือในแก้มลิงที่ยังพอมีอยู่ ให้นำมาใช้รักษาระบบนิเวศไปจนถึงต้นฤดูฝนปีนี้และใช้หมุนเวียนไล่น้ำเสียให้มากที่สุด รวมถึงการนำน้ำจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วปล่อยลงสู่คลองเพื่อช่วยเจือจางน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น พร้อมทั้งนำไปใช้ในการรดต้นไม้ในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครต่อไป จึงอยากขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงฤดูฝนด้วย สำหรับ ค่าความเค็มของน้ำหากสูงเกิน 1.5 กรัมต่อลิตร (ppt.) จะมีผลต่อพืชทั่วไป ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้เพื่อการเกษตร (ที่มา : คุณภาพน้ำเพื่อการชลประทานตามระบบของสหรัฐอเมริกา (USSL, 1954) )

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ