นักวิชาการ มธ. ชี้เยาวชน “LGBT” โดนแกล้งถี่ 4.5 เท่าของเด็กปกติ เสี่ยงซึมเศร้า – สูญเสียตัวตน แนะสถานศึกษาปลูกฝังค่านิยม 3 เท่า

ข่าวทั่วไป Thursday March 24, 2016 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้เยาวชน LGBT โดนแกล้งถี่ 4.5 เท่าของเด็กปกติ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและพยายามฆ่าตัวตายสูง จากการเผชิญพฤติกรรมความรุนแรงของเพื่อนร่วมชั้นที่กระทำเพราะความเกลียดกลัว และแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือก ว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ปกติ พร้อมแนะสถานศึกษาปลูกฝังเยาวชนให้มีทัศนคติที่เปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม ผ่านการเรียนการสอนที่สอดแทรกการใช้ชีวิตบนค่านิยม 3 เท่า อันได้แก่ "เท่าทัน" การเลือกรับสารที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับตนเองได้ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคมที่ชวนเชื่อ "เท่าเทียม" การแสดงออกทางความคิดที่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียม และ "เท่าที่ควร" การรู้จักปฏิบัติตัวและแสดงออกอย่างพอเหมาะพอดี ต้องมีมารยาทและกาลเทศะ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาสาธารณะ "สุขภาพและสุขภาวะของกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกในปัจจุบัน (The Health and Wellbeing of LGBT Students: Making Things Better)" อันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อกลุ่มบุคคล LGBT ที่หลายภาคส่วนควรช่วยกันแก้ไข เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยงานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนักวิชาการ นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ผู้สนใจสามารถสอบถามรายระเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 เว็บไซต์ www.pr.tu.ac.th รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากงานเสวนาสาธารณะ "สุขภาพและสุขภาวะของกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกในปัจจุบัน (The Health and Wellbeing of LGBT Students: Making Things Better)" มีการเผยผลงานวิจัย Youth'2000 จากประเทศนิวซีแลนด์ ระบุว่า กลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกมีจำนวนโดยประมาณอยู่ที่ 5 – 10% ของประชากรนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 6 เท่า และมีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายสูงถึง 5 เท่า เทียบกับเด็กทั่วไป โดยมีสาเหตุหลักมาจากการต้องเผชิญกับพฤติกรรมความรุนแรงของเพื่อนร่วมชั้นที่กระทำเพราะความเกลียดกลัว และแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือก ว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ปกติ รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมความรุนแรงดังกล่าว หมายรวมถึงการกลั่นแกล้งทางวาจา และการทำร้ายทางร่างกาย แม้ว่าความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้กับนักเรียนโดยทั่วไป แต่คนที่มีความแตกต่างจะมีโอกาสโดนรังแกได้มากกว่า โดยจากผลวิจัยพบว่า กลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกจะถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนถี่กว่านักเรียนปกติถึง 4.5 เท่า ในขณะที่มีการถูกทำร้ายทางร่างกายเป็น 2 เท่า จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกเกิดความกดดัน เครียด และซึมเศร้า หลายคนจึงหาทางออกด้วยการเสพความสุขที่ไม่ส่งผลดีในระยะยาว อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์การพนัน การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งทั้งหมดอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมเรื้อรังต่อไปในอนาคต หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ขึ้นเกิดกับกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือก ไม่ใช่ปัญหาของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสำคัญอันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนในสังคม ที่ไม่เปิดใจและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องการแสดงออกทางเพศ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องสีผิว เชื้อชาติ ชนชั้น ตลอดจนการแสดงออกความคิดเห็นอย่างเสรีภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ในฐานะคณะที่มุ่งพัฒนาการศึกษายุคใหม่ไปพร้อมกับทักษะในการใช้ชีวิต เชื่อว่าสถานศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการปลูกฝังเยาวชนให้มีทัศนคติที่เปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างของคนในสังคมได้ ผ่านการเรียนการสอนที่สอดแทรกการใช้ชีวิตบนค่านิยม 3 เท่า อันได้แก่ 1. เท่าทัน: การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร เยาวชนควรมีทักษะในการคัดกรอง วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ ตลอดจนเลือกรับสารที่เป็นประโยชน์ และเหมาะสมกับตนเองได้ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคมที่ชวนเชื่อ 2. เท่าเทียม: การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางประชากรศาสตร์ และการแสดงออกทางความคิด ทุกคนควรเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียม 3. เท่าที่ควร: การจะเข้าสังคมได้อย่างมีความสุข ทุกคนต้องรู้จักปฏิบัติตัวและแสดงออกอย่างพอเหมาะพอดี ต้องมีมารยาทและกาลเทศะ รวมไปถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ขององค์กร และกฎหมายของบ้านเมือง ด้าน นายพิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ หรือ "ภูเขา" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกวิทยุโทรทัศน์ มธ. นักศึกษากลุ่ม LGBT กล่าวว่า สำหรับตนเป็นหนึ่งในกลุ่ม LGBT ที่เคยมีประสบการณ์การโดนรังแกในสมัยเรียนมัธยมฯ เช่นกัน จากทั้งเพื่อนร่วมชั้นที่ชอบแกล้ง รวมไปถึงครูผู้สอน ที่เปรียบดั่งครูผู้ให้ความรู้ ก็ยังหยอกล้อด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม อย่าง "ทำตัวให้แมน ๆ หน่อย" "เป็นตุ๊ดเหรอ" ซึ่งส่งผลให้ตนรู้สึกไม่มั่นใจ เหมือนเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่น หลายครั้งรู้สึกเครียดและไม่อยากไปโรงเรียน จนถึงขนาดเคยขอที่บ้านย้ายโรงเรียนเพื่อหนีปัญหาดังกล่าว แต่สุดท้ายเมื่อได้กลับมาคิดทบทวน จึงหาทางออกให้ตัวเองด้วยการโฟกัสเรื่องเรียนแทน ในทางกลับกันเมื่อได้ก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชีวิตก็ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ด้วยสังคมที่ค่อนข้างเปิดรับในทุกความหลากหลาย และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ส่งผลให้ตนมีความสุขกับการเรียนและการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดกับการได้รับเลือกเป็น "แม่ทัพเชียร์" ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 71 นับเป็นการก้าวข้ามอีกความท้าทายหนึ่งของสังคมที่ยังจมอยู่กับทัศนคติการตัดสินคนแต่ภายนอก และไม่ค่อยให้ความสนใจในความสามารถที่บุคคลนั้นมี ซึ่งเวทีนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ตนได้แสดงออกถึงศักยภาพในฐานะของคนคนหนึ่งได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตนจะก้าวผ่านปัญหาความรุนแรงมาได้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์หรือพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ทุกส่วนควรช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะ 3 สถาบันหลักๆ ดังต่อไปนี้ 1. สถาบันการศึกษา: โดยเฉพาะ "ครูผู้สอน" ที่เปรียบเสมือน "ผู้นำความคิด" ของนักเรียนที่ชี้นำความคิดต่าง ๆ ได้ ควรปรับทัศนคติ สร้างความรู้ความเข้าใจในเพศวิถีศึกษาแก่เยาวชน และปฏิบัติต่อเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม 2. สถาบันสื่อสารมวลชน: สื่อมวลชน ในฐานะสถาบันที่มีบทบาทอย่างสูงต่อสังคม ควรเลี่ยงการนำเสนอภาพจำการกระทำความรุนแรงทางเพศกับกลุ่ม LGBT และการเป็นตัวตลกที่สร้างความบันเทิงแก่สังคมแต่เพียงอย่างเดียว 3. สถาบันครอบครัว: ครอบครัว นับเป็นสถาบันเพียงแห่งเดียวที่มีความใกล้ชิดกับเยาวชนมากที่สุด จึงควรเปิดใจให้กว้าง เข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่เยาวชนเป็น ทั้งนี้ งานเสวนาสาธารณะ "สุขภาพและสุขภาวะของกลุ่มนักเรียนเพศทางเลือกในปัจจุบัน (The Health and Wellbeing of LGBT Students: Making Things Better)" จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนักวิชาการ นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายระเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-613-3030 เว็บไซต์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ