พบชุมชนสุดเจ๋ง เปลี่ยน "ปี๊บเก่า เป็นเตาเบอร์ 5" นวัตกรรมจากธนาคารขยะ บ้านนาซำจวง หนองบัวลำภู

ข่าวทั่วไป Tuesday April 5, 2016 17:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--มููลนิธิสื่อสร้างสุข ชุมชนนาซำจวง หนองบัวลำภูแนะ ปิ๊บเก่า หม้อนึ่งเก่า เศษเหล็ก อย่าทิ้ง ประดิษฐ์เตาชีวมวลใช้ในครัวเรือน ประหยัดถ่านถึง 50% นายสมพงษ์ โสภาวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านนาซำจวง ตำบลนาแก อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า บ้านนาซำจวง ชุมชนขนาดกลาง 123 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่อ้อย ประสบปัญหาขยะในชุมชนที่เกิดจากพฤติกรรมของคนในชุมชนที่มักง่าย ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ในปี2557 จึงทำโครงการชุมชนสะอาดปราศจากขยะขึ้นมาแก้ปัญหา โดยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา เริ่มต้นจากการตั้งสภาผู้นำชุมชนเพื่อประชุมร่วมกันทุกเดือนเพื่อนำปัญหามาวิเคราะห์ กำหนดกติกา และวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกัน เกิดเป็นกิจกรรมการทำความสะอาดชุมชนทุกวันพระ การคัดแยกขยะครัวเรือน และการรับซื้อขยะประจำสัปดาห์ จากการทำงานทำให้พบว่ามีวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือนหลายชนิดที่นำมาขายให้ธนาคารขยะ หรือนำไปทิ้งเป็นเศษขยะ เช่น ปี๊บจากร้านค้าในชุมชน หม้อนึ่งเก่า เศษเหล็ก ท่อสูบน้ำจากการเกษตร จึงคิดว่าน่าจะนำมาประดิษฐ์ของใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเริ่มต้นศึกษาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและนำมาประกอบกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้เตาถ่านในการหุงต้มอาหารเป็นประจำทุกวัน นายสำราญ จอมทอง ชาวบ้านนาซำจวง ผู้คิดค้นเตา กล่าวว่าการประดิษฐ์เตาชีวมวลใช้ในครัวเรือน ทำขึ้นจากปี๊บเก่า หม้อนึ่งเก่า เศษเหล็ก ท่อสูบน้ำเก่า แกลบดำจากการเผาถ่าน และปูน โดยการน้ำปี๊บมาเจาะลิ้นเตาด้านข้าง นำท่อสูบน้ำเก่า 2 ขนาดวางลงกลางปี๊บ เจาะรูท่อเหล็กเพื่อให้มีการระบายอากาศ นำแกลบดำใส่ในช่องว่างระหว่างปี๊บและท่อเหล็ก และนำปูนมาปิดทับด้านบน หม้อนึ่งให้นำมาเจาะก้นออก แล้ววางด้านบนของเตา เพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับปิ้งย่าง ส่วนเศษเหล็ก นำมาทำหูเตา หรือฐานวางหม้อ นางสง่า โสภาวรรณ์ ผู้ใช้เตาในการประกอบอาหาร กล่าวว่าเตาชีวมวลลดปริมาณการใช้ถ่าน จากเดิมในการย่างปลานิล 1 ตัว ใช้ถ่านถึง 5 ก้อน ใช้เตาชีวมวลใช้ถ่านเพียง 2 ก้อน ทำให้ถ่าน 1 กระสอบเดิมใช้ได้ครึ่งเดือน เมื่อหุงต้มด้วยเตาชีวมวลใช้ได้นานกว่า 1 เดือน ปัจจุบันชุมชนนาซำจวง สามารถจัดการขยะในชุมชนอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะในครัวเรือน การร่วมกันทำความสะอาดชุมชนทุกวันพระ การรับซื้อขยะประจำสัปดาห์ การประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่จากขยะ คือเตาชีวมวลใช้เอง ซึ่งจำนวนกว่า 70% ของครัวเรือนทั้งหมด หันมาใช้เตาชีวมวลหุงต้มอาหารในครัวเรือน ประหยัดถ่ายได้ถึง 50 %

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ