การสอนทางไกล เทรนด์ “ไม่ใหม่” แต่ “เหมาะ” กับโรงเรียนขนาดเล็กและห่างไกล

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 09:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กนับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบัน ทั้งนี้จากการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. พบว่ามีสถานศึกษาขนาดเล็กจำนวนมาก ยังขาดแคลนบุคลากรที่เหมาะสม และบางครั้งสถานศึกษาขนาดเล็กเหล่านี้ก็กลายเป็นที่ฝึกการบริหารของผู้บริหารมือใหม่ป้ายแดง ซึ่งจากการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 ที่จัดโดย สมศ. ภายใต้แนวคิด "ก้าวข้ามขีดจำกัด...สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ" ในหัวข้อ "การสอนทางไกลกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา" ในการก้าวข้ามขีดจำกัดด้านการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขนาดเล็กให้ประสบความสำเร็จ ดังนี้ นายสุรพล จานสิบสี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากปี 2553 คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT) ของนักเรียนในเขตพื้นที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในทุกกลุ่มสาระ ซึ่งทางเขตพื้นที่การศึกษามีสถานศึกษาทั้งหมดจำนวน 141 แห่ง เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก 83 แห่ง โดยสถานศึกษาขนาดเล็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาการขาดแคลนครูทำให้ครูไม่ครบชั้น หรือครูสอนไม่ตรงกับสาขาที่จบมา จึงส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ดังนั้น ทางผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารโรงเรียนและท้องถิ่น เห็นความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการศึกษาทางไกลเข้ามาช่วยในระบบการเรียนการสอนของสถานศึกษาขนาดเล็กในสังกัดทุกแห่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) นายสุรพล กล่าวต่อว่า นอกจากการนำวิธีการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่แล้ว ทางเขตยังได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 6 ข้อ ที่ครูผู้สอนต้องนำไปปฏิบัติควบคู่กับการใช้สื่อทางไกล ดังนี้ 1) จัดสภาพห้องเรียนให้เหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มของการจัดการ ขั้นพื้นฐาน 2) มีการเตรียมการสอนจากคู่มือการสอน พร้อมทั้งเตรียมสื่อ และอุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้ครบก่อนถึงชั่วโมงเรียน 3) จัดการเรียนรู้ร่วมกับครูต้นทางและครูผู้สอนเพื่อคอยกำกับและกระตุ้นเด็กให้เอาใจใส่ในการเรียนและทำกิจกรรมร่วมกับครูต้นทาง 4) สรุปสาระสำคัญร่วมกับผู้เรียนหลังจากการเรียนในแต่ละช่วงและมีการบันทึกผลการจัดการเรียนรู้หลังจากการสอน เพื่อให้สามารถติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ 5) วัดและประเมินผลเหมือนการเรียนการสอนแบบปกติและ 6) มีการสอนซ่อมเสริม ให้กับผู้เรียนที่ทำแบบทดสอบไม่ผ่าน ซึ่งจากการจัดการเรียนการสอนตามแผนยุทธศาสตร์เหล่านี้ ประกอบกับนำคำแนะนำของ สมศ. ที่ให้ใช้สื่อการสอนในการจัดการศึกษาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา สถานศึกษาสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนครูได้ และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT) ของผู้เรียนในเขตพื้นที่มีคะแนนสูงขึ้น และผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทยมีกว่า 36,225 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก จำนวน 15,314 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีจำนวนผู้เรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่งบริบทของสถานศึกษาขนาดเล็กส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่นอกเขตเมือง หรือในพื้นที่ห่างไกล ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเท่าที่ควร โดยจากการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. พบ 3 ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็ก ดังนี้ 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ โดยพบว่านักเรียนในสถานศึกษาขนาดเล็กยังมีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ โดยเสริมทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ 2) ครูไม่ครบชั้นเรียน เป็นปัญหาหลักที่พบได้ทั่วไปในสถานศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละสถานศึกษาก็จะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น การนำวิธีการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนในรายวิชานั้น ๆ 3) สถานศึกษาขาดการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาใช้ปรับปรุงพัฒนา โดยการประเมินของ สมศ. นั้นเป็นไปเพื่อการตรวจสอบยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็น จุดแข็ง จุดอ่อนของสถานศึกษา และสาเหตุของปัญหา ทั้งนี้ สถานศึกษาและต้นสังกัดควรนำผลประเมินมาเพื่อนำมาเป็นแนวทางให้สถานศึกษาได้ใช้ในการปรับปรุง วางแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ