สศก. จัดทีมเก็บข้อมูลวิจัย ปูทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทย-เมียนมาร์

ข่าวทั่วไป Tuesday May 10, 2016 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผนึกกำลังลงพื้นที่ จัดเก็บข้อมูลงานวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการเกษตรจากการเปิดประชาคมอาเซียน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก หวังแนวทาง ในการเสนอแนะและจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก) เปิดเผยถึงการบูรณาการศึกษาวิจัยเรื่อง"การศึกษาแนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการเกษตรจากการเปิดประชาคมอาเซียน กรณีศึกษา"เขตเศรษฐกิจพิเศษ" (Special Economic Zone หรือ SEZ) อ.แม่สอด จ.ตาก" ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1, 2 และ 12 ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อประกอบการทำวิจัย โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ด้านพืช ปศุสัตว์ และด้านประมง รวมถึงสหกรณ์การเกษตร ที่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายนที่ผ่านมา การวิจัยดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ การบริหารจัดการสินค้าเกษตรนำเข้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการเกษตร จากการจัดตั้ง SEZ แม่สอด ตามนโยบายของรัฐบาลที่นักธุรกิจจำนวนมากให้ความสนใจ และคาดหวังว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค นายชวพฤฒ กล่าวต่อไปว่า ปี 2558 มูลค่าการค้าชายแดนไทย - เมียนมาร์ ประมาณ 68,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 8 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าพบว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าที่ถูกกฎหมายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่า แนวโน้มมูลค่านำเข้าอาจลดลง เนื่องจากการค้าสินค้าเกษตรไทย - เมียนมาร์ ที่ผ่านด่านแม่สอด มีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ เงื่อนไขกฎระเบียบการนำเข้า-ส่งออกของไทย ที่ค่อนข้างเข้มงวด จำนวนเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการค้า และความไม่พร้อมของเอกสารการค้าจากประเทศเมียนมาร์ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการชะลอตัว และอาจลดลงจนปิดกิจการในอนาคตหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ ลูกค้าของผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่ได้รับความสะดวกเริ่มหันไปทำการค้ากับผู้ประกอบการ ผ่านด่านชายแดนอื่น เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพราะมีขั้นตอน พิธีการ รวมถึงกฎระเบียบที่ผ่อนปรนมากกว่า ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าว จะมีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมให้รอบด้าน และคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2559 เพื่อเผยแพร่แก่ผู้สนใจสำหรับใช้ประโยชน์ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ