เด็กไทยมีลุ้น..หยุดกังวลกับหนังสือเล่มหนาด้วยสื่อ 3D Anatomy

ข่าวทั่วไป Wednesday June 22, 2016 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี AR Anatomy อีกหนึ่งผลงานการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการศึกษาในยุคดิจิทัล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และจดจำบทเรียนพื้นฐานวิชากายวิภาคศาสตร์ให้เด็กไทยด้วยแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน การอ่านหนังสือเป็นช่องทางในการสะสมความรู้ที่ง่ายที่สุด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้คนไทยมีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นถึงแม้จะยังไม่สูงมากนัก และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าการอ่านหนังสือประเภทตำราเรียน หรือความรู้วิชาการนั้นมีผู้ให้ความสนใจค่อนข้างน้อยมาก เมื่อเทียบกับหนังสือประเภทอื่นๆ โดยปัจจัยหลักเกิดจากการไม่มีเวลา ชอบดูโทรทัศน์ ไม่ชอบอ่านหนังสือ รวมถึงการอ่านหนังสือไม่ออก เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการอ่านมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสื่อดิจิทัล หรือหนังสือที่มาในรูปแบบ e-book ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ นางสาวศญาดา ก่อกิจความดี จากกลุ่มวิชาเอกเทคโนโลยีมีเดียชีวการแพทย์ และนายปัณณวิชญ์ คำต่าย กลุ่มวิชาเอกดิจิทัล สาขาเทคโนโลยีมีเดีย โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียยอาตส์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกันพัฒนาผลงาน "สื่อการเรียนรู้กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยามนุษย์ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง" ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ กายวิภาคศาสตร์ในรูปแบบสามมิติโดยใช้เทคโนโลยีภาพเสมือน (Augmented Reality) ในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนระบบแอนดรอยด์ที่ชื่อว่า AR Anatomy โดยใช้ร่วมกับโปสเตอร์ประกอบการแสดงผลที่เป็นภาพสรีระร่างกายของมนุษย์ ซึ่งมีการทำ Marker ไว้ในจุดที่ต้องแสดงรายละเอียดของสรีระส่วนต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อและแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน "เมื่อขึ้นปีสองได้เริ่มเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องท่องจำคำศัพท์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก จำ ได้ว่าตอนนั้นมีความรู้สึกว่าไม่อยากอ่านหนังสือเพราะตัวหนังสือมากและเล่มหนา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้พัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมา เพื่อสร้างแรงจูงใจในการอ่านหนังสือโดยมีแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเป็นตัวช่วยแทนที่จะต้องอ่านหนังสือเล่มหนาที่มีแต่ตัวหนังสือจำนวนมาก ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้นานทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายและไม่อยากอ่านหนังสือ" ศญาดา กล่าว ทางด้าน ปัณณวิชญ์ อธิบายถึงการใช้งานแอพพลิเคชั่น AR Anatomy ว่าเริ่มด้วยเปิดแอพฯ แล้วเพียงนำไปส่องลงบนตำแหน่งต่างๆ บนโปสเตอร์ซึ่งมี marker อยู่แล้ว แอพฯ จะมีการแสดงภาพ 3 มิติขึ้นโดยแสดงรายละเอียดของอวัยวะนั้นๆ ทั้งภาพ คำศัพท์ และเสียงพูด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการจดจำและการเรียนรู้ได้ดีขึ้น "ผู้ใช้สามารถแยกดูอวัยวะในระบบต่างๆ ได้ทีละระบบตามหลัก anatomy 11 ระบบ อาทิ ระบบกระดูก ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบไหลเวียนเลือด ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ และระบบหัวใจที่เราทำ เป็นแอนิเมชั่นแสดงให้เห็นจังหวะการเต้นของหัวใจเพื่อสร้างความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนั้นภาพสามมิติที่ ปรากฏบนแอพฯ ยังสามารถซูมเข้าไปดูอย่างละเอียดได้หากไม่มีเงาหรือสิ่งใดมาบดบัง marker บนโปสเตอร์ ส่วนโมเดลภาพสามมิติที่ปรากฏบนแอพฯ นั้นยังสามารถหมุนดูในมุมต่างๆ ได้ถึง 360 องศา" ปัณณวิชญ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าล่าสุดได้มีการนำแอพฯ ดังกล่าวไปทดสอบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเป็นระดับชั้นที่เริ่มเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ในระดับพื้นฐานพบว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนกายวิภาคสำหรับผู้เริ่มต้นเรียนให้ดีขึ้นได้ ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจและสามารถจดจำสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ได้มากยิ่งขึ้น โดยการมองเห็นภาพ 3 มิติ ช่วยให้จดจำตำแหน่งของอวัยวะได้ง่ายและจดจำคำศัพท์ภายวิภาคได้ดีขึ้นผ่านการฟังและพูดตามเสียงจากแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามแอพฯ ดังกล่าวยังไม่มีให้ดาวน์โหลดใน Play Store ของระบบแอนดรอยด์โดย ศญาดา กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลงานนี้กำลังจะได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีข้อมูลที่ละเอียด และสมบูรณ์แบบมากขึ้น จากการเรียนรู้คำศัพท์ในระดับพื้นฐานจะถูกพัฒนาขึ้นจนกระทั่งแพทย์สามารถใช้งานแอพฯ ดังกล่าวได้ และนอกจากนั้นจะพัฒนาให้การแสดงภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ เป็นแอนิเมชั่นได้ทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุง marker ให้มีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้น.//

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ