ทิสโก้คาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยปลายปี ส่งผลดอลลาร์ฯแข็งต่อเนื่อง แนะเพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้ระยะสั้นสหรัฐฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 23, 2016 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป กูรูทิสโก้มองเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยแค่ชั่วคราว คาดจะกลับมาปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ส่งผลให้ดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องครึ่งปีหลัง แนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสได้กำไรจากดอลลาร์ฯ แข็ง นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) กล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มเทรนด์ขาขึ้นระยะยาวตั้งแต่ต้นปี 2014 เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มลดการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการ QE ซึ่งทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปลายปีที่แล้ว แต่ในปีนี้ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้กลับมาอ่อนค่าลงราว 2% นับจากต้นปี โดยปัจจัยหลักๆ มาจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปหลังจากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน พ.ค. ออกมาน่าผิดหวัง อย่างไรก็ตามดัชนีชี้วัดตลาดแรงงานตัวอื่นๆ ยังคงแข็งแกร่ง และเราคาดว่า Fed จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปี ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าอยู่ในขณะนี้ กลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง "เรามองว่า ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นในระยะยาว โดยเราคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมเดือนธันวาคม และขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวที่ 1.5% ไปจนถึงปลายปีหน้า ดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยในไทยที่ทรงตัวจะส่งผลดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท" นายคมศร กล่าว เราคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ณ สิ้นปี 2559 และ 2560 จะอยู่ที่ 36.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และ 37.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ และแนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และมีโอกาสได้กำไรจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะกลับมาเป็นเทรนด์แข็งค่าในระยะยาว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ