ปณิธานครูรุ่นใหม่ จุดประกายพลเมือง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Tuesday July 12, 2016 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล กว่า 3 ปีที่โครงการครูเดลิเวอร์รี่ของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลาได้ดำเนินการมา ภายใต้โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลา (Active Citizen) โดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยหวังจะช่วยสอนเสริมให้นักเรียนโรงเรียนบ้านพังเภา ซึ่งเดิมเรียนแต่กับ "ครูตู้" หรือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ เพราะการที่เด็กเรียนกับโทรทัศน์อย่างเดียว ทำให้เด็กไม่มีโอกาสโต้ตอบแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับครู จนไม่ตั้งใจเรียน เกิดปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามมา ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ทีมนิสิตได้ลงไปเป็นครูสอนวิชาเรียนต่างๆ ทว่าปีล่าสุด ที่มีแกนนำหลักประกอบด้วย แม็ก-นายธนกร บริพันธ์ อาย-นางสาวเกศสินี พรหมราช นิว-นายสาริทธิ์ คงเกิด มิมิ-นางสาวศศิประภา คงทอง และมุก-นางสาวณัฐธิดา พฤษการณ์ พบว่านอกจากความรู้ในตำราแล้ว เด็กๆ ยังขาดทักษะจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันจากการลงมือทำกิจกรรมจริง เพื่อสร้างมุมมองชีวิตและความคิดความฝันที่สร้างสรรค์ และเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับสังคมข้างหน้า เหล่าว่าที่คุณครูเริ่มลงมือปฏิบัติการแรกที่การหากำลังหนุน โดยรับสมัครเพื่อนร่วมคณะ เพราะมองว่าแค่พวกเขา 5 คนคงไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน การทำงานของทีมงานขนาดใหญ่จึงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ผลัดกันลงไปจัดการสอนและกิจกรรม โดยแต่ละกลุ่มมีหัวหน้าและรองหัวหน้า เพื่อให้สะดวกในการบริหารงานและติดต่องาน จากนั้นลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์และสอบถามความต้องการของน้อง แล้วมาร่วมกันมองหาว่าควรเติมทักษะอะไรให้แก่น้องนอกจากวิชาเรียนตามหลักสูตร อาย-เกศินี เล่าว่า "กิจกรรมที่เราจะสอนเสริมให้แก่น้องแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความกล้าแสดงออก ด้านระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งทักษะเหล่านี้ที่น้องขาดไปไม่ได้มีผลกระทบกับการเรียน แต่กระทบต่อการดำรงชีวิตของน้อง เพราะหลายอย่างคือสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เป็นรากฐานสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมภายหน้า" สำหรับกิจกรรมที่กลุ่มนิสิตเลือกใช้เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่เด็กๆ จะได้เล่นสนุกและเรียนรู้ไปพร้อมกัน เช่น การทำสมุดบันทึกความดี การประดิษฐ์กระปุกออมสิน ทำไข่เค็ม แปลงเกษตร เป็นต้น มุก-ณัฐธิดา ยกตัวอย่างเบื้องหลังการคิดกิจกรรมว่า "การทำสมุดบันทึกความดีเพื่อจูงใจให้น้องอยากทำความดี และเป็นวิธีฝึกน้องทางอ้อมให้เขียนหนังสือ ส่วนการทำถังขยะ จะช่วยฝึกให้น้องทำงานเป็นทีม จากการร่วมกันวิเคราะห์ประเภทของถังขยะที่จะทำ และลงมือออกแบบตกแต่งถังขยะตามจินตนาการ รวมทั้งสร้างความภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม รู้จักรักและดูแลโรงเรียนจากการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง" การลงมือทำโครงการนี้ นอกจากกลุ่มนิสิตครูจะได้ฝึกปรือฝีมือการสอน ฝึกฝนกระบวนการคิดกิจกรรมแล้ว ยังทำให้พวกเขาค้นพบสิ่งใหม่ที่มากกว่าตำราเรียนเคยบอก อย่างแรกคือ การเป็นตัวอย่างที่ดีสำคัญมากสำหรับคนเป็นครู เพราะเด็กจะคอยมองดูตลอดว่าครูทำอะไร ถ้าครูไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เขาได้ เขาก็จะไม่เชื่อฟังในสิ่งที่ครูสอน ต่อมาคือได้รู้ว่าครูกับเด็กต่างเป็นครูให้กันและกัน ครูรู้วิชาเรียนและทักษะสังคม นักเรียนก็รู้ทักษะชีวิต เช่น เลี้ยงวัว ปลากัด ไก่ชน เพราะคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก อย่างที่ 3 คือเรียนรู้ว่าการเปิดพื้นที่และรับฟังเด็กมีความสำคัญมากในการร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน จากหลายครั้งที่ความเห็นต่อสิ่งที่ครูสอนของนักเรียน เป็นประโยชน์กับการปรับแผนการทำงานของครูเอง อย่างที่ 4 เป็นเทคนิคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยตั้งคำถามให้เด็กคิดว่าสิ่งที่ทำผิดหรือถูกอย่างไร มอบคำชมเชยเมื่อเด็กทำดี เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความเข้าใจว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง เขาจะค่อยๆ ปรับตัวสู่สิ่งที่ถูกต้อง กระทั่งครูอาจไม่ต้องตักเตือนซ้ำอีก และเรื่องสุดท้ายคือ ความเปลี่ยนแปลงในหัวใจของเหล่านิสิต เพราะการพาตัวเองลงไปสัมผัสจริง จากนิสิตครูจึงกลายเป็นครูเต็มตัว ผู้เปี่ยมสำนึกในความสำคัญของอาชีพครู และเกิดสำนึกความเป็นพลเมือง ที่หมายมั่นจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนระบบเดิมการศึกษาซึ่งก้าวช้ากว่ายุคให้ทันสมัยมากขึ้น และหวังจะถ่ายทอดจิตสำนึกดีๆ นี้สู่นักเรียนของตัวเองต่อไป แม็ก-ธนกร เล่าความรู้สึกเมื่อได้ผ่านการทำโครงการว่า "หลักสูตรการเรียนครูจะได้ไปสังเกตการณ์การสอนตอนปี 3 ได้ไปฝึกสอนตอนปี 5 หากเราใช้ชีวิตแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ผมว่าประสบการณ์ชีวิตเมื่อไปเป็นครูจริงๆ คงไม่เพียงพอ การได้ลงพื้นที่ดูของจริงสำคัญกว่าบทเรียน เพราะปัญหาของการศึกษาไม่เคยหยุดนิ่ง ชั้นเรียนเปรียบเสมือนงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียน อย่างครูยุคใหม่คงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน เนื่องจากเด็กสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็จะไม่ค่อยฟังครู "พอจบไปเป็นครู ผมตั้งใจจะเป็นครูที่ไม่ได้สอนแต่วิชาการ ต้องสอนส่วนที่เด็กสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ด้วย เพราะครูเป็นสะพานเชื่อมความรู้ให้เด็กต่อจากครอบครัว หรือเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ก็เท่ากับครูเป็นคนเริ่มสร้างความรู้ การสอนของครูจึงอาจเป็นแรงบันดาลใจเป็นการจุดประกายฝันให้เขา สิ่งที่ผมอยากสอนให้เด็กนำไปใช้คือ เรื่องจิตสำนึกความเป็นพลเมืองดี ซึ่งจะก่อเกิดหนทางให้ชีวิตเขาต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ