แผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในงานนิทรรศการและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 มุ่งพัฒนาพื้นที่และภูมิทัศน์วัฒนธรรม ทำชุมชนวัดเทวราชกุญชรเป็นต้นแบบ

ข่าวบันเทิง Wednesday July 27, 2016 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและรับฟังข้อคิดเห็นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 2 เผยแบบร่างแนวคิดแผนแม่บทระยะทางสองฝั่งรวม 57 กม. และระยะนำร่องสองฝั่งรวม 14 กม.ณ ลานกิจกรรมใกล้ศูนย์มรดกเจ้าพระยา สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี จัดโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการสำรวจวิจัยและออกแบบ มุ่งการพัฒนาพื้นที่บนฐานมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีชุมชน โบราณคดีสาธารณะรวมทั้งโบราณคดีเมือง เพื่อการอนุรักษ์สืบสานและสร้างสรรค์ สู่อนาคต "เจ้าพระยาเพื่อทุกคน" ส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ชุมชน พื้นที่สาธารณะสองฝั่งเจ้าพระยา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนและรองรับสังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้ เผยพัฒนาชุมชนเทวราชกุญชรเป็นต้นแบบ ความก้าวหน้าของโครงการ รศ.ดร. สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า การดำเนินงานทุกด้านของโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่มีนาคมถึงปัจจุบัน มีความก้าวหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ในด้านการมีส่วนร่วมและโบราณคดีชุมชนได้ลงพื้นที่ 33 ชุมชน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เรายังได้ร่วมมือกับกรมศิลปากร และคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการศึกษาแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่สองฟากฝั่งอันเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญของประเทศ เพื่อทำให้เข้าใจคุณค่าและนำไปสู่การอนุรักษ์ สืบสานมรดกวัฒนธรรม ด้านการออกแบบได้จัดทำร่างแนวคิดผังแม่บท ระยะทาง 57 กม. และระยะนำร่อง 14 กม. เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่และมรดกวัฒนธรรม โดยสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมและ Eco-Based Design เพิ่มธรรมชาติสีเขียว สำหรับการออกแบบในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน โดยประสานกับฝ่ายวิศวกรรม ด้านชลศาสตร์ได้ศึกษาระดับน้ำและผลกระทบตามแบบจำลองต่างๆ รวมทั้งเตรียมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ผศ.ดร. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า แนวทางการอนุรักษ์พัฒนาของโครงการมาจากการศึกษาย่านชุมชนตามโบราณคดีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มนุษยวิทยา ชาติพันธุ์ ธรรมชาติ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาชุมชน จะเห็นว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแกนหลัก มีคูคลองแยกย่อยเป็นกิ่งก้านสาขา มีชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่หลอมรวมกัน เราควรศึกษารากฐานที่สำคัญเหล่านี้เพื่อเรียนรู้อดีตเข้าใจปัจจุบัน เรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์ในอนาคต ร่างผังแม่บท 57 กม. "นาคนาม" สืบสานวิถีริมน้ำ ประวัติศาสตร์ชุมชนและวัฒนธรรม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ Chao Phraya for All โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ดำเนินงานสำรวจและการลงพื้นที่มาเป็นเวลา 4 เดือนเต็ม เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาพื้นที่ชุมชนบนฐานของมรดกวัฒนธรรม โดยร่วมกันค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ในด้านสถาปัตยกรรม แนวคิดภาพรวมของแผนแม่บท ระยะทาง 57 กิโลเมตรจากสะพานพระราม 7 ถึงบางกระเจ้า สะท้อนถึงวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และสายสัมพันธ์ของชีวิตริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างงดงาม ภายใต้คอนเซ็ปต์ "นาคนาม" (นาค-คะ-นาม) เป็นการเชื่อมโยงทางจินตภาพของพญานาคซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนไทยและชาวเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเทพแห่งสายน้ำและท้องฟ้า สื่อถึงพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดั่งเช่นท้องน้ำเจ้าพระยา ในการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อาจารย์ รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ภูมิสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชุมชน กล่าวว่า แนวคิดและวิสัยทัศน์ Chao Phraya for All อนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ (Conservation, Continuity, & Creativity) บนฐานคุณค่าประสบการณ์ และองค์ความรู้ของมรดกธรรมชาติ (Natural Heritage) หรือ "มรดกเจ้าพระยา" (The Chao Phraya Heritage) ประกอบไปด้วย กรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชน และภูมิทัศน์ ที่กว้างใหญ่ไพศาล ตลอดสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคุณค่าที่เด่นชัด มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาของมรดกเจ้าพระยา คือ คุณค่าความเป็นเมือง หรือ ชุมชนแม่น้ำ (Water Based City or Community) ทั้งทางกายภาพของเมืองและถิ่นฐาน รวมทั้งวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คน ดังที่ชาวต่างชาติเคยเรียกขนานกันในเชิงเปรียบเทียบว่า เวนิสตะวันออกแห่งที่ 2 ที่มีค่าเทียบได้กับมรดกโลก โดยมีวัตถุประสงค์ 1. "อนุรักษ์" ฟื้นฟูกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 3 ชั้น ทั้งเมืองและแม่น้ำ และมรดกแห่งภูมิปัญญาที่มีชีวิต (Living Heritage) 2. "สืบสาน" สิ่งดีๆ ที่สุญหายไป นำกลับมาประยุกต์กับการใช้สอยที่ร่วมสมัยกับปัจจุบัน เช่น ทางเดิน และทางจักรยาน รวมทั้งพื้นที่สาธารณะ 3. "สร้างสรรค์" สิ่งใหม่ๆ ที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาคุณค่าแม่น้ำเจ้าพระยาให้มากยิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาเชิงเรียนรู้ (Learning Based Development) และ การพัฒนาเชิงสีเขียวสลับน้ำตาล (Green & BrownDevelopment) ที่คำนึงถึงผู้คนทั้งมวล (Universal Design) ร่างผังแม่บทระยะนำร่อง 14 กม. สำหรับผังแม่บทระยะนำร่อง 14 กม. ประกอบด้วย 12 แผนย่อย ได้แก่ แผนงานที่ 1: โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน(Community Conservation and Development Areas), แผนงานที่ 2: งานพัฒนาจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(River Landmark) ได้แก่ พิพิธภัณฑ์รัตนโกสินทร (วิมานพระอินทร์), พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยา, พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้มรดกเจ้าพระยา,ศูนย์ศิลปการแสดงแห่งชาติ (National Performance Arts) และพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี, แผนงานที่ 3: งานจัดทำทางเดินริมแม่น้ำ (River Walks), แผนงานที่ 4:งานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน (Green Walks), แผนงานที่ 5: งานพัฒนาท่าเรือ(Piers), แผนงานที่ 6: โครงการพัฒนาศาลาท่าน้ำ (Sala Riverfronts), แผนงานที่ 7: งานพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ(Public Emergency Service) ได้แก่ เพิ่มท่าน้ำ ใต้สะพานกรุงธน, ใต้เส้นทางรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน, ปากคลองสะพานยาว, ปากคลองบางพระครู, ปากคลองบางพลู, แผนงานที่ 8: โครงการพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ (River Linkages) ซึ่งรวมถึง โครงการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเส้นทางประวัติศาสตร์, แผนงานที่ 9: โครงการปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ (Historical Canal), แผนงานที่ 10: งานการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน (Religious Conservation Areas), แผนงานที่ 11:งานพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ (Recreation Nodes), แผนงานที่ 12: งานพัฒนาสะพานคนเดิน(Pedestrian Bridge) ส่วนในด้านแผนพัฒนาพื้นที่นั้นอยู่ระหว่างการร่วมออกแบบกับชุมชน โดยโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้พัฒนาชุมชนวัดเทวราชกุญชร เป็นต้นแบบ จากการสำรวจและสืบค้นรากฐานแห่งอดีต รวมทั้งวัฒนธรรม พบว่าพื้นที่บริเวณวัดเทวราชกุญชรเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยเบื้องต้นจะอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองผดุงกรุงเกษมซึ่งเป็นลำคลองประวัติศาสตร์รวมทั้งท่าเรือ สะพานข้ามคลองเชื่อมต่อจากภายนอกสู่ทางเดินดั้งเดิมภายในชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงกับวัดและชุมชน นอกจากนี้จะปรับปรุงภูมิทัศน์บ้านเรือนริมน้ำ และลดปัญหาการกัดเซาะด้วยการปลูกป่าชายเลนเพื่อคืนระบบนิเวศสู่ชายฝั่ง โดยออกแบบให้กลมกลืนกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของย่านเทวราชกุญชร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ