กรมสุขภาพจิต แนะ เคารพสิทธิเด็ก ป้องกันบาดแผลทางใจระยะยาว

ข่าวทั่วไป Monday August 22, 2016 15:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กรมสุขภาพจิต นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการพบเด็กชายที่ถูกลักพาตัวไป เกือบ 3 ปี ว่า ได้มอบหมายทีมสุขภาพจิตเตรียมพบเด็กและครอบครัว เพื่อดูแลประเมินสภาพจิตใจของเด็กและวางแผนให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแนะนำแนวทางการดูแลเด็กให้กับครอบครัว ลดผลกระทบด้านจิตใจให้เร็วที่สุด ซึ่งโดยทั่วไป หากเด็กถูก ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกมา ในช่วงแรก จะพบว่า ยังคงมีอาการหวาดกลัว หวาดผวา นอนไม่หลับ วิตกกังวล เด็กบางคนอาจมีอาการซึม เฉย หรือ มีพฤติกรรมก้าวร้าวแสดงออกมาเรื่อย ๆ พอผ่านพ้นช่วงอาการเหล่านี้ไป เด็กจะเริ่มบอกเล่า ซึ่งเด็กสามารถจะผ่านพ้นความรู้สึกนี้ไปได้ ด้วยความรักและความใกล้ชิดของพ่อแม่ และหาก ในช่วงแรก ถ้าเด็กมีอาการหวาดกลัวหรือหวาดผวามาก ๆ อาจต้องเจอทีมจิตแพทย์ทุกวัน แต่ถ้าเป็นไม่มากอาจพบเป็นรายสัปดาห์ เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤติแรกๆ ไปได้ จะมีการติดตามเป็นระยะๆ เพื่อให้เด็กมีการปรับตัวและอยู่ได้ด้วยตัวเอง อย่างไร ก็ตาม หากตัวเด็กเองสามารถผ่อนคลายได้เร็ว การฟื้นฟูจิตใจก็จะเร็วขึ้นเช่นกัน แต่หากเด็กถูกควบคุมหรือเคยถูกทำร้ายอย่างรุนแรงจะต้องใช้เวลาดูแลนานเป็นเดือน และหากเป็นการถูกทารุณกรรมกรรมทางเพศ การเยียวยาจิตใจก็จะยากกว่าเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย พ่อแม่จึงต้องช่วยกันให้กำลังใจเด็ก หากเด็กยังไม่อยากพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็อย่าไปบังคับ ให้รอจนกว่าเด็กจะมีความพร้อมทางจิตใจ และรู้สึกอยากบอก อยากเล่าด้วยตัวเขาเอง หรือถ้าเด็กจะพูด พ่อแม่ก็ไม่ควรห้าม เพราะการพูดจะช่วยให้เด็กได้ระบายความรู้สึกที่เก็บกดไว้ออกมา เกิดความอบอุ่นและมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุด คือ สภาพจิตใจของเด็ก จึงขอแนะให้ ครอบครัว เพื่อนบ้าน ครู และเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ต้องปฏิบัติตัวกับเขาเหมือนปกติ ใส่ใจ เข้าใจ และให้กำลังใจ เพื่อช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย หลีกเลี่ยงการขุดคุ้ย เช่น ถามว่า เขาทำอะไรกับเธอบ้าง หรือ หลีกเลี่ยงการล้อเลียน เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพราะจะยิ่งทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ และฝังใจมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ ซึ่ง สื่อมวลชน ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยต้องไม่ละเมิดสิทธิของเด็ก ภายใต้ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 สำหรับแนวทางป้องกันเด็กให้พ้นจากอันตรายจากคนแปลกหน้านั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนลูกตั้งแต่ยังเล็ก ให้ลูกอยู่ในสายตา ไม่วางใจคนแปลกหน้า และให้ลูกรู้จักระวังตัว โดย จำเป็นต้องสอนและตั้งเป็นกฎ ห้ามเด็กไปไหนกับคนแปลกหน้าโดยที่พ่อแม่ไม่รู้โดยเด็ดขาด จำกัดวงของคนแปลกหน้าที่ลูกจะสามารถไปไหนมาไหนด้วยได้ให้น้อยที่สุด รวมทั้งต้องไม่ปล่อยให้ใครก็ตามให้ของหรือเงินกับลูก เพื่อป้องกันการใช้ของมาหลอกเด็ก ในเด็กเล็กจึงควรห้ามรับของจากคนแปลกหน้าเด็ดขาด คำกล่าวที่ว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จึงยังคงใช้ได้เสมอ แต่หากกรณีมีผู้ใหญ่อยากให้ พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ว่าสอนให้เด็กไม่รับของ หากอยากให้ ต้องให้พ่อแม่เป็นผู้รับด้วยตัวเองเท่านั้น นอกจากนี้ พ่อแม่จำเป็นต้องสอนทักษะพื้นฐาน เช่น ถ้าลูกรู้สึกกังวล ก็ต้องรู้จักขอความช่วยเหลือด้วยวิธีต่างๆ เช่น การร้อง หรือตะโกนว่า ช่วยด้วย เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด การปลูกฝังวินัยและความรับผิดชอบให้กับลูก ทั้งเรื่องการเรียน การเล่นเกม การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจน การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันในครอบครัว ย่อมเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากภัยรอบข้างที่อยู่รอบตัวเด็กได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ