กรมป่าไม้ แก้ปัญหาวัดในพื้นที่ป่าไม้ พร้อมสนับสนุนวัดช่วยดูแลป่าสร้างความยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2016 09:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--กรมป่าไม้ นายชลธิศ สุรสัวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เผยว่าตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2538 พิจารณาการแก้ไขปัญหาเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัดในพื้นที่ป่าไม้ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข และได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ ร่วมกับสำนักพระพุทธศาสนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบวัดในพื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 7 พันกว่าแห่งโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก คือวัดที่ไม่เหมาะสมที่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ เพราะมีความล่อแหลมที่อาจจะส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความเสียหายได้ ต่อมาจึงมีการลงมติว่า วัดที่เข้าข่ายดังกล่าวจะต้องออกจากพื้นที่ของป่าไม้ ซึ่งมีจำนวนกว่า 40 แห่ง ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้ดำเนินการแล้ว กลุ่มที่ 2 คือ วัดที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ที่สามารถจะตั้งวัดได้ โดยทางสำนักพุทธศาสนาเป็นผู้รับรองว่าเมื่อกรมป่าไม้อนุญาตให้วัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ จะต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายโดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งในส่วนนี้มีการยื่นขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 1,700 แห่ง โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้สำนักพระพุทธศาสนาเป็นผู้ดำเนินการในการออกใบอนุญาตขอใช้ประโยชน์โดยยึดตามเงื่อนไขที่กำหนด และกลุ่มที่ 3 คือ ในส่วนของโครงการพระพุทธศาสนากับป่าไม้ คือการพัฒนาจัดตั้งในรูปแบบของ "พุทธอุทยาน" เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านพระพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมควบคู่กับการดูแลป่าไม้ รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ แหล่งการเรียนรู้ การศึกษาทางธรรมชาติ เป็นสถานที่ในการพักผ่อนของคนในชุมชนและผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติธรรม สถานที่ดังกล่าวจะไม่มีการสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรขนาดใหญ่ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ร่วมกันดำเนินการระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับสำนักพระพุทธศาสนากว่า 800 แห่ง ยังคงเหลืออีกประมาณ 2 – 3 พันแห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบร่วมกัน โดยกรมป่าไม้จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อไปสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้อย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐกับหน่วยงานพระพุทธศาสนา และประชาชนในท้องถิ่น ที่จะร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ ดูแลป่าไม้ของประเทศ การดำเนินโครงการดังกล่าวจึงนับได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเห็นเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดปัญหาการบุกรุกป่า และช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ ได้อีกหนทางหนึ่งเช่นกัน อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ