เด็กธัญบุรี วอน กยศ. ต่อลมหายใจ ในเส้นทางการศึกษา

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2016 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี หนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่อาจจะช่วยต่อลมหายใจของนักศึกษาบางกลุ่มที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 2.00 ให้ได้ กู้ยืมเงิน กยศ. และได้เรียนต่อบนเส้นทางการศึกษา หลังจากกรณีที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอให้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์กองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการกำหนดให้ผู้ที่จะกู้ยืมเงิน ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 ซึ่งรศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระจายโอกาสการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเชื่อว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนมีความตระหนักในเรื่องของผลการเรียน การที่คะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 ไม่ใช่เรียนไม่ได้ การศึกษาในระบบจะมีเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเป็นข้อบังคับอยู่แล้ว ทำให้นักศึกษาต้องตั้งใจเรียน แต่หากนักศึกษากู้ยืมเงิน กยศ.ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องหางานทำเพิ่ม เมื่อนักศึกษาทำงานหนักและเหนื่อยล้าจากการทำงานก็จะส่งผลต่อการเรียนในที่สุด แต่ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องทำความเข้าใจกับเด็กและให้เด็กตระหนักในเรื่องการเรียนมากกว่าเดิม ตัวแทนของนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ที่สะท้อนความเห็นต่อหลักเกณฑ์การกู้ กยศ. ที่มีการพิจารณาเกรดเฉลี่ยสะสม 'นัท' -นายปริญญา ยอดชัยภูมิ คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ชั้นปีที่ 4 ที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสม 1.97 จึงหมดสิทธิ์กู้ กยศ. ในชั้นปีสุดท้าย เผยว่า เกณฑ์การกู้ กยศ. ที่ต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 ไม่น่าจะนำมาพิจารณา โดยส่วนตัวแล้วการเรียนในชั้นปีที่สูงขึ้นนั้น ค่อนข้างยากต้องมีความรับผิดชอบและมีวินัยต่อตนเอง แต่จากการทำงานด้วยเรียนด้วย บางครั้งเราจัดสรรเวลาล่วงหน้าอย่างลงตัว แต่พอถึงสถานการณ์จริงย่อยมีหลายปัจจัยที่ทำให้แผนที่วางไว้เปลี่ยนไป ดังเช่น ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ความต่อเนื่องของงานที่คั่งค้างหรือยังไม่เสร็จ จึงทำให้ต้องเบียดเบียนเวลาเรียนไปบ้าง ทำให้ความเข้าใจในเนื้อหาลดน้อยลง ตามเพื่อนไม่ค่อยทัน ส่งผลต่อเกรดเฉลี่ยดังที่ปรากฏ ประกอบกับทางบ้านต้องส่งน้องอีกคนหนึ่งเข้าเรียน จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ตนจึงต้องหางานทำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือครอบครัวและดูแลตนเองให้ตลอดรอดฝั่ง จึงอยากขอโอกาสให้กับนักศึกษาทุกชั้นปี โดยเฉพาะชั้นปีสุดท้ายที่กำลังกำลังจะเป็นว่าที่บัณฑิตนี้ ได้มีโอกาสกู้ กยศ. ได้ โดยไม่ต้องนำเกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวพิจารณา และเชื่อว่ามีนักศึกษาชั้นปี 4 หลายคนที่หมดสิทธิ์กู้ยืม เพราะเกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด เช่นเดียวกับ 'ส้ม' - นางสาวธนวรรณ เทพขวัญ คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน ชั้นปีที่ 2 เล่าว่า ตนเคยกู้ กยศ. ตอนเรียนชั้นปีที่ 1 มาแล้ว แต่พอมาถึงปีที่ 2 ตนก็ไม่สามารถกู้ได้ เพราะมีเกรดเฉลี่ย 1.96 จึงไม่ผ่านหลักเกณฑ์การกู้ยืม หากถามว่าทำไมได้เกรดเฉลี่ยน้อย ก็มีหลายสาเหตุ อาจจะทุ่มเทให้กับการทำกิจกรรมระหว่างที่เรียนมากเกินไป จนทำให้แบ่งเวลาไม่เหมาะสม อีกทั้งตอนเรียนปี 1 ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่ ซึ่งพื้นฐานแต่ละคนก็แตกต่างกันไป รวมถึงพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม ตนคิดว่าเกรดเฉลี่ยสะสมมีความสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในการชี้วัดการทำงานในอนาคต แต่อาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาพิจารณาการกู้ กยศ. เพราะทำให้นักศึกษาต้องรับภาระมากขึ้น ทำงานมากขึ้น ประหยัดอดออมค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อจัดเตรียมเงินมาจ่ายค่าเทอม หากหาไม่ได้ก็ต้องพักการเรียน หรือไม่ได้เรียนต่อ นางสาววันทนีย์ จตุเทน หรือน้องแป้ง นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาเคมี ชั้นปีที่ 2 เผยว่า ภาระหนักทางครอบครัวจึงทำให้ตนนั้นต้องกู้ กยศ. เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและค่าครองชีพ แต่ด้วยตนนั้นไม่สามารถกู้ได้ ทางบ้านจึงต้องหยิบยืมจากญาติพี่น้อง หาแหล่งเงินทุนเพื่อกู้ยืม และหาช่องทางการทำงานเพื่อให้มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเทอม ประกอบกับงานพาร์ทไทม์ในปัจจุบันหายาก และต้องใช้เวลาทุ่มเทกับงาน จึงเห็นด้วยกับหลายฝ่ายที่เห็นตรงกันในการยกเลิกหลักเกณฑ์กู้ กยศ. ด้วยการพิจารณาเกรดขั้นต่ำ 2.00 ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนแตกต่าง โอกาสที่จะได้รับก็ต่างกัน จึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เพราะโอกาสทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ นุช - นางสาวนุชฤดี ศรีตังตา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมพอลิเมอร์ ชั้นปีที่ 4 ที่เกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่าเกณฑ์กู้ กยศ. ที่กำหนด เห็นว่า กองทุน กยศ. ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่น่าจะนำหลักเกณฑ์การกู้เพื่อคัดกรองและกำหนดผู้ที่จะกู้ยืมเงินต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.00 มาใช้ เพราะเป็นการจำกัดโอกาสในการศึกษา แม้จะตั้งใจแล้วก็ตาม แต่ศักยภาพการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน นุช ยังกล่าวด้วยว่า "ขณะนี้หางานพิเศษทำในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ และเวลาว่างจากการเรียน เพื่อให้มีเงินมาเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างศึกษา ขอฝากถึงผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อยากให้พิจารณาและหาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกว่านี้มาใช้ และเมื่อเรียนจบ มีงานทำ ก็ตั้งใจว่าชำระหนี้ กยศ. เพื่อส่งต่อโอกาสให้กับน้อง ๆ ต่อไป" เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งจากเสียงนักศึกษา ที่เคยกู้และหมดสิทธิ์กู้ กยศ. ด้วยข้อจำกัดการพิจารณาเกรดเฉลี่ยสะสม ที่สะท้อนไปถึงผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนกลับมาถึงตัวนักศึกษาเองให้ตระหนักในเรื่องการเรียนมากกว่าเดิมด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ