สธ. เปิดตัวสัญลักษณ์โภชนาการ“ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ต้านโรค NCDs เผยโฉมผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการรับรอง เชิญผู้บริโภคเลือกซื้อ

ข่าวทั่วไป Friday September 2, 2016 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--คอร์แอนด์พีค กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)" หวังให้ผู้บริโภครับรู้และรู้จักสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหารอย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกซื้อ เพื่อส่งเสริมภาวะโภชนาการให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรค NCDs พร้อมทั้งภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือในการปรับสูตรอาหาร ลดน้ำตาล ไขมันและโซเดียม ล่าสุดเผยโฉมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง 57 ผลิตภัณฑ์จาก 14 บริษัท และจะขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาหารในอนาคต นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ศ.เกียรติคุณ นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นประธานแถลงข่าวในการเปิดตัวสัญลักษณ์โภชนาการ ต้านโรค NCDs นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้าน และอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง การบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมไปถึงการไม่ออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีภาระโรคที่เกิดจากกลุ่มโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก จากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2552 พบว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 314,340 ราย หรือร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นฝ่ายเลขานุการ ดำเนินโครงการสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม และเครื่องปรุงรส โดยตัวอย่างหลักเกณฑ์การพิจารณาของกลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6,000 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5,000 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เป็นต้น รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559 เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Choice) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2559 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 กลุ่มอาหาร 57 ผลิตภัณฑ์ จาก 14 บริษัท ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม 55 ผลิตภัณฑ์ และ กลุ่มเครื่อง ปรุงรส 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 21 บริษัท และมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการจากบริษัทต่าง ๆ มาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค มุ่งหวังเพื่อสร้างการรับรู้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง และสร้างความมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหาร โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แบบสมัครใจ ซึ่งจะแสดงบนบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อบ?งบอกให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน เกลือ (โซเดียม) หรือสารอาหารอื่น ๆ ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค ในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม พร้อมกับส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสมออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ. โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม (หวาน-มัน-เค็มจัด) ขาดการออกกำลังกาย ภาวะเครียด การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ปัจจุบันพบว่ากลุ่มโรค NCDs เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยถึง 73% ต่อปี ดังนั้นสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกำหนดเกณฑ์สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการที่ใช้ประกอบการพิจารณารับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการในอาหารแต่ละกลุ่ม และได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยวิชาการในการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ รวมทั้งส่งเสริมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น เพื่อให้สัญลักษณ์โภชนาการเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมมากขึ้น โดยร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด และภาวะไตวายเรื้อรัง ปัญหาดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามในประชากรไทย ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ.2556 รายงานว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน (ร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อนกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในปี พ.ศ.2552 สูงถึง 5,580.8 ล้านบาท โดยคิดเป?นร?อยละ 2.01 ของค?าใช?จ?ายด?านสุขภาพทั้งหมดของประเทศและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี หรือคณะกรรมการเฉพาะเรื่องชุดที่ 3 ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหหิดล เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงได้กำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมการใช้ข้อมูลโภชนาการเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมต่อสุขภาพ จึงร่วมกันดำเนินโครงการสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" เพื่อให้สัญลักษณ์โภชนาการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลโภชนาการที่ลดความซับซ้อนให้กับผู้บริโภคควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง และเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมมากขึ้น สามารถตัดสินใจเลือกซื้อและเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว โดยการเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเดียวกัน ทั้งนี้ อย. และมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์การใช้สัญลักษณ์โภชนาการกับกลุ่มอาหารประเภทอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) กลุ่มผลิตภัณฑ์นม (น้ำนมสด น้ำนม นมผง นมปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์ของนม นมเปรี้ยว (ชนิดกึ่งแข็งกึ่งเหลวและชนิดพร้อมดื่ม)) และกลุ่มเครื่องดื่มที่ขยายขอบข่าย (เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ และมอลต์สกัด ชาปรุงสำเร็จ และกาแฟปรุงสำเร็จ) เพื่อขยายขอบข่ายกลุ่มอาหารในวงกว้างต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้สมัครขอใช้สัญลักษณ์โภชนาการ สามารถส่งใบสมัครขอรับการรับรองได้ที่มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยดาวน์โหลดใบสมัคร และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://healthierlogo.com หรือ www.ทางเลือกสุขภาพ.com สำหรับผู้ที่สมัครก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2559 จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการสมัคร สำหรับสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" จะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลโภชนาการที่ลดความซับซ้อนลงให้กับผู้บริโภค และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมปรับปรุงสูตรอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารให้ผ่านตามเกณฑ์สำหรับสัญลักษณ์โภชนาการ จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาลโรคดังกล่าวในระยะยาวต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ