ปภ.แนะผู้ขับขี่เรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไขเหตุฉุกเฉิน...เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางช่วงฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Thursday September 8, 2016 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ขับขี่เรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไขเหตุฉุกเฉินจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงฤดูฝน ดังนี้ รถชนท้ายหรือรถเฉี่ยวชน ป้องกันได้โดยการไม่ขับรถเร็ว รถหลุดโค้ง ป้องกันโดยการ ใช้ความเร็วในระดับที่ควบคุมได้ รถพลิกคว่ำ ป้องกันโดยตรวจสอบยางให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน รถเหินน้ำ ป้องกันโดยการหมั่นตรวจสอบยางรถยนต์เพื่อประสิทธิภาพในการรีดน้ำและยึดเกาะถนน รถติดหล่มป้องกันโดยเลือก ใช้เส้นทางที่มีรอยล้อรถวิ่งอยู่แล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในช่วงฤดูฝน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระยะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่ มีฝนตก ทำให้สภาพถนนเปียกลื่น มีน้ำท่วมขัง และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน หากผู้ขับขี่ขาดความระมัดระวัง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะผู้ขับขี่เรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนที่มักเกิดในช่วงฤดูฝน ดังนี้ รถชนท้ายหรือเฉี่ยวชน เกิดจากสภาพถนนเปียกลื่น ทำให้ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถมากกว่าปกติ ป้องกันได้โดยไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติ รวมถึงให้สัญญาณไฟล่วงหน้าก่อนเลี้ยวหรือเปลี่ยนช่องทาง ในระยะไม่ต่ำกว่า ๖๐ เมตร ก่อนเบรกรถควรแตะเบรกเบาๆ เพื่อชะลอความเร็วให้ผู้ที่ขับตามหลังมาหยุดรถได้ทัน รถหลุดโค้ง เกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงขณะขับผ่านเส้นทางโค้ง ทำให้รถไถลออกจากเส้นทาง ป้องกันได้โดยใช้ความเร็วในระดับที่สามารถควบคุมรถได้ ไม่เหยียบเบรกและปลดเกียร์ว่างขณะขับผ่านเส้นทางโค้ง ในกรณีที่รถไถลออกนอกเส้นทาง ห้ามหักพวงมาลัยกะทันหัน ให้แตะเบรกเบาๆ เพื่อชะลอความเร็ว พร้อมจับพวงมาลัยให้มั่น เพื่อประคองรถกลับเข้าเส้นทาง รถพลิกคว่ำ เกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงและเบรกกะทันหัน ป้องกันได้โดยตรวจสอบยางรถยนต์ให้ดอกยางละเอียด ร่องยางลึก และเติมลมยางให้มากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน ระบบเบรกสามารถหยุดรถได้ในระยะที่ปลอดภัย หากเกิดเหตุฉุกเฉินห้ามเหยียบเบรกให้รถหยุดในทันที ควรแตะเบรกเบาๆ เป็นจังหวะถี่ๆ เพื่อชะลอความเร็ว จะช่วยป้องกันรถพลิกคว่ำ รถเหินน้ำ เกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านเส้นทางที่มีแอ่งน้ำ ประกอบกับยางรถยนต์ไม่มีดอก หรือลมยางอ่อนกว่าค่าที่กำหนด จึงไม่สามารถรีดน้ำออกจากหน้าสัมผัสได้ ทำให้ล้อรถหมุนอยู่บนผิวน้ำ โดยไม่สัมผัสกับพื้นถนน ป้องกันได้โดย หมั่นตรวจสอบยางรถยนต์ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยมีดอกยางละเอียด ร่องยางลึก เติมลมยางให้มากกว่าปกติ เมื่อขับผ่านเส้นทางที่มีแอ่งน้ำควรลดระดับความเร็ว ไม่หักพวงมาลัยกะทันหันและไม่เหยียบเบรกให้ล้อหยุดหมุนในทันที เพราะจะทำให้ล้อล็อก จนรถเสียการทรงตัว ให้ค่อยๆ ถอนคันเร่ง และใช้เกียร์ต่ำเพื่อชะลอความเร็ว พร้อมยึดจับพวงมาลัยให้มั่นจนรถทรงตัวได้ดี จึงค่อยเหยียบเบรก เพื่อหยุดรถ รถติดหล่ม เกิดจากการขับรถผ่านเส้นทางดินลูกรังที่มีสภาพเป็นทางโคลนประกอบกับผู้ขับขี่ประเมินเส้นทางผิดพลาด ส่งผลให้ รถไม่สามารถเคลื่อนตัวจากหล่มได้ ป้องกันได้โดยเลือกใช้เส้นทางที่มีรอยล้อรถวิ่งอยู่แล้ว รักษาความเร็วในระดับสม่ำเสมอ หากเหยียบคันเร่งแล้วรถมีอาการหนืด ให้ค่อยๆ หมุนพวงมาลัยไปมาอย่างช้าๆ เพื่อให้ล้อเกาะพื้นดินใหม่ จะช่วยให้รถเคลื่อนที่ได้ หากรถติดหล่มห้ามเร่งเครื่องยนต์หรือหักพวงมาลัยอย่างแรง เพราะจะทำให้ล้อจมโคลนลึกกว่าเดิม ให้ใช้ก้อนอิฐหรือท่อนไม้วางด้านหน้าของล้อหลัง แล้วค่อยๆ เร่งเครื่อง หรือใช้รถที่มีกำลังแรงกว่าพ่วงสายลากจูงยึดติดกับรถ เพื่อลากให้รถเคลื่อนตัวออกจากหล่ม ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไขเหตุฉุกเฉินจากอุบัติเหตุทางถนน จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในช่วงฤดูฝน 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ