รพ.พญาไท 1 ชวนแพนเค้ก เปิดตัว “นวัตกรรมการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบ 360 องศา”

ข่าวทั่วไป Wednesday September 21, 2016 16:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--รพ.พญาไท 1 รพ.พญาไท 1 ถ.ศรีอยุธยา – แถลงข่าวเปิดตัว "นวัตกรรมการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบ 360 องศา" พร้อมเยี่ยมชมเครื่อง "ไบ-เพลน ดีเอสเอ" (Bi-Plane Digital Subtraction Angiography : Bi-Plane DSA) เครื่องเอ็กซเรย์แบบ 2 ระนาบ พร้อมระบบสร้างภาพอวัยวะเสมือนจริงแบบ 3 มิติรุ่นล่าสุด ที่ทำให้สามารถวินิจฉัย และรักษาโรคของหลอดเลือดในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ณ ห้องปฏิบัติการตรวจรักษาทางหลอดเลือด พร้อมพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่มาพูดคุยให้ความรู้ร่วมกับแขกรับเชิญ คุณลูก-คุณแม่คนดัง คุณแพนเค้ก เขมนิจ และคุณนวลนง จามิกรณ์ ในหัวข้อ "360 องศา นวัตกรรมการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง รพ.พญาไท 1 ศักยภาพและมาตรฐานระดับสากล" เพื่อสร้างความรู้ทางด้านนวัตกรรมการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่นอกเหนือไปจากการฉีดยาละลายลิ่มเลือดในสมองให้ทันท่วงที หากไม่สามารถละลายได้ หรือพ้นเวลาที่จะสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดแล้ว ยังมีการใช้วิธีการรังสีร่วมรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการของโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายอิทธิ ทองแตง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสเครือ รพ.พญาไท-เปาโล กล่าวว่า "รพ.พญาไท 1 เป็นรพ.ที่ผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะเป็นรพ.แห่งนวัตกรรมการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างนวัตกรรมการรักษาสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ โรคของหลอดเลือดเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้นในผู้สูงอายุจึงพบโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของหลอดเลือดหลายโรค เช่น โรคอัมพาตเฉียบพลันจากหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การเกิดแผลเรื้อรังจากการไหลเวียนเลือดผิดปกติ เป็นต้น การผ่าตัดในโรคหลอดเลือดของผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูง การใช้วิธีการรังสีร่วมรักษาจึงเป็นทางออกในการสร้างประสิทธิภาพทางการรักษาได้อย่างสูง โดยมีความเสี่ยงที่ลดลงไปอย่างมาก การใช้วิธีรังสีร่วมรักษาเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการวินิจฉัยด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ที่ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถมองเห็นรอยโรคในร่างกายได้อย่างเหมือนจริง ทำให้สามารถเข้าถึงรอยโรค และให้การรักษาที่เฉพาะเจาะจงที่รอยโรคได้โดยตรง โดยเครืองมือที่ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีทางรังสีวิทยา เครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ รุ่นล่าสุดนี้ เป็นเครื่องมือทางรังสีร่วมรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถเห็นภาพหลอดเลือดที่เสมือนจริงได้มากที่สุด ช่วยให้แพทย์สามารถเข้าถึงรอยโรคได้อย่างตรงจุด และใช้เทคนิครังสีร่วมรักษาให้กับผู้ป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ดังนั้นเครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ นี้จะสามารถตอบโจทย์การรักษาโรคของหลอดเลือดต่างๆ ซึ่งเป็นโรคที่พบเป็นส่วนใหญ่ในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดความเสี่ยงของการผ่าตัด ลดอัตราการเสียชีวิต และลดความพิการได้อย่างมีประสิทธิผล" ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการรพ.พญาไท 1 เปิดเผยว่า เครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ รุ่นล่าสุดนี้ เป็นเครื่องเอ็กซเรย์สำหรับการวินิจฉัย และรักษาโรคหลอดเลือดชนิด 2 ระนาบ และมีระบบประมวลภาพเสมือนจริง ที่ทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพรอยโรค และหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน แม้ในหลอดเลือดขนาดเล็ก รวมทั้งยังสามารถระบุปริมาณเลือดไหลเวียนในรอยโรคได้อีกด้วย ทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจในการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาผู้ป่วยอัมพาตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งรพ.พญาไท 1 ได้สร้างนวัตกรรมการรักษาโรคหลอดเลือดสมองมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การพัฒนาระบบการรักษาอัมพาตเฉียบพลันให้มีความฉับพลัน และรวดเร็ว สามารถให้การวินิจฉัย ทำ CT Scan และให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ภายในเวลา 30 นาที ในทุกช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมารพ. การพัฒนาระบบ Telemedicine ที่ทำให้รพ.สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทัน ในรพ.เครือข่ายกว่า 20 รพ.ตามต่างจังหวัด รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อการรักษาอัมพาตเคลื่อนที่คันแรกของเอเชีย ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สำหรับในครั้งนี้การเสริมการติดตั้งเครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอัมพาตเฉียบพลันด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีความครอบคลุมครบ 360 องศา ในทุกๆ มุม แม้ผู้ป่วยจะมารพ.เมื่อเลยระยะเวลาที่จะฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ หรือฉีดแล้วไม่สามารถละลายได้ ทีมแพทย์ของรพ.พญาไท 1 ยังสามารถใช้ประโยชน์ของเครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ ในการใส่สายเข้าไปทางเส้นเลือดที่ขาหนีบเพื่อลากก้อนเลือดจากในสมอง (CLOT Retrieval) โดยอาศัยความแม่นยำชัดเจนของเครื่อง รวมทั้งความสามารถของเครื่องในการประเมินปริมาณเลือดไหลเวียนในส่วนของสมองที่ขาดเลือด ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยอัมพาตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการลงได้ นอกจากนี้ความผิดปกติในหลอดเลือดอื่นๆ ของสมองที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองก็สามารถใช้เครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ ในการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มเติมให้ศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดสมองของรพ.พญาไท 1 สามารถให้บริการโดยมีศักยภาพ และความครอบคลุมในการเป็นมาตรฐานสากลเทียบเท่าศูนย์โรคหลอดเลือดสมองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ นอกจากการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง เครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ ชนิดนี้สามารถใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง โรคของหลอดเลือดในส่วนอื่นๆ รวมทั้งการรักษามะเร็ง เช่น มะเร็งตับ ซึ่งสามารถฉีดยาฆ่ามะเร็งเข้าไปในก้อนมะเร็ง หรือจำลองภาพของก้อนมะเร็งพร้อมก้อนเลือดที่เข้าไปเกี่ยวก้อนมะเร็ง และฉีดสารเพื่ออุดกั้นไม่ให้เลือดไปหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อเล็กลงได้ นพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการโรคหลอดเลือดสมองพญาไท รพ.พญาไท 1 กล่าวถึงศักยภาพของเครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ ว่า "เครื่องนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กให้เข้าถึงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เช่น ในผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง แพทย์อาจใส่สายสวนไปที่บริเวณลิ่มเลือด และฉีดยาละลายลิ่มเลือดในปริมาณเล็กน้อย เพื่อละลายลิ่มเลือดอุดตันได้โดยตรง หรือในกรณีที่ลิ่มเลือดอุดตันมีขนาดใหญ่ ก็สามารถใส่เครื่องมือพิเศษที่ใช้เกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดอุดตันได้ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ทันเวลา นอกจากนี้ยังมีชุดซอฟแวร์พิเศษของเครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ ที่มีเพียงรพ.พญาไท 1 เท่านั้นที่ใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยชุดซอฟแวร์พิเศษจะถูกออกแบบสำหรับทำการตรวจรักษาทางการแพทย์โดยเฉพาะที่สามารถสร้างภาพ 3 มิติของหลอดเลือด ภาพเสมือนภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพแผนที่หลอดเลือดนำทาง ช่วยให้แพทย์สามารถทำการวัด คำนวณ และประเมินตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด โดยซอฟแวร์จะสามารถประมวลผลออกมาเป็นภาพเพื่อแสดงการเปรียบเทียบการไหลเวียน และการกระจายของเลือดในสมองทั้งในส่วนที่ปกติ และผิดปกติ ทั้งในช่วงก่อน และหลังการตรวจรักษา เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการรักษาให้กับแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาได้อย่างสะดวก และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของหลอดเลือดตีบ เช่น ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีหลอดเลือดบริเวณขาตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจ หรือขาไม่เพียงพอ เกิดอาการสมองขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือปวดขาบ่อยๆ แพทย์ก็สามารถใส่สายสวนเพื่อนำบอลลูนไปถ่างขยายหลอดเลือดในบริเวณที่มีพยาธิสภาพได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความเสี่ยงที่หลอดเลือดจะตีบลงอีก แพทย์สามารถใส่โครงลวดถ่างขยายหลอดเลือด หรือที่เรียกว่า "สเต็นท์" (Stent) ค้างไว้ในหลอดเลือดได้อย่างแม่นยำ หลังจากทำหัตถการแล้วผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นไม่กี่วันก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ" นพ.สุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "รพ.พญาไท 1 มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ และเครื่องมือทันสมัยที่พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน เพื่อผลการรักษาที่ดีเยี่ยมใกล้เคียงกับการรักษาในต่างประเทศ มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ตั้งแต่การยกห้องฉุกเฉินมาอยู่ในรถพยาบาล (Mobile CT & Stroke Treatment Unit– MSU) โดยแพทย์จะสั่งถ่ายภาพหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA brain) เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ และที่สำคัญคือ ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือด : rt-PA (อาร์ที-พีเอ) พร้อมกับให้รพ.เตรียมเครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ (Bi-Plane DSA) ที่ช่วยให้แพทย์ทำการตวจวินิจฉัย เพื่อการรักษาได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธี "การลากก้อนเลือด" (Clot Retrieval) ออกจากสมองด้วยอุปกรณ์พิเศษ หรือการผ่าตัด ก่อนส่งผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลใน Acute Stroke Unit (ASU) หรือ หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน ซึ่งมีคณะแพทย์เฉพาะทางร่วมกับทีมสหสาขาคอยให้ดูแลอย่างใกล้ชิด และมีระบบการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อน ควบคู่กับการฟื้นฟูสมรรถภาพการเดิน และการเคลื่อนไหวของมือและแขนด้วยหุ่นยนต์ (ROBOT TRAINER) ด้วยความครอบคลุมทั้งหมดนี้ ทำให้ รพ.พญาไท 1 มีความพร้อมสู่การยกระดับเป็นศูนย์การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในระดับสากล"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ