มัคคุเทศก์น้อยคลองสองน้ำ เรียนรู้ชุมชน - เพื่อรักชุมชน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 21, 2016 17:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล "ตอนนี้เรามองย้อนดูตัวเราเองว่าถ้าหมดรุ่นเราไปแล้ว ตั้งคำถามว่า ถ้าเด็กเขาไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักชุมชนเลย เขาจะกลับมามองตัวเอง ครอบครัว ชุมชนไหม คำตอบคือเขาจะไม่กลับมามองเลย เขาจะไปตามกระแส "ทิ้งถิ่น" เราก็เลยต้องกลับมาทำในส่วนนี้" นายจีระพล ลื่อเท่ง ปลัดเทศบาลตำบล เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ กล่าวที่มาของโครงการมัคคุเทศก์น้อย ที่ใช้สถานที่ท่องเที่ยวท่าปอมคลองสองน้ำ แหล่งท่องเที่ยว Unseen ขึ้นชื่อของชุมชนให้เด็กได้เรียนรู้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ถึงปัจจุบัน โดยร่วมกับ โรงเรียนบ้านหนองจิก สนับสนุนนักเรียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการนี้มาสอดคล้องกับโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในภายหลัง (เริ่มปีที่ 2559) ซึ่งสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้หลากหลายมิติ ทั้งวิชาภาษาอังกฤษ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาหลักสูตรท้องถิ่น การใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน คือกลอุบายล้ำลึกของพื้นที่นี้ "เยาวชนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับบ้านเกิดตัวเองได้ รู้จักตัวเอง รู้จักชุมชน แล้วทำไมบ้านเราไม่ทำให้เด็กรู้จักชุมชน รู้จักครอบครัว รู้จักบ้านเกิดของเขา ที่เห็นว่าสำคัญ และต้องให้เด็กมาเรียนรู้ตรงนี้ เพราะคิดว่าเด็กนั้นถ้าผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ เขาก็จะไม่ให้ความสำคัญกับบ้านของตัวเองเหมือนกัน พอเขาเรียนจบไปแล้ว ก็ไม่ได้คิดจะกลับมาพัฒนาบ้านตัวเอง แต่ถ้าเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับบ้านตัวเอง เขาก็อยากจะกลับมาพัฒนาบ้านตัวเองให้ดีขึ้น การพาเด็กเรียนรู้บ้านตัวเองมันทำให้เกิดสำนึกบางอย่าง คือ เขาเกิดสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งเราอยากให้มันมีขึ้นมา แม้ทำแล้วไม่ได้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ ขอสัก 10 เปอร์เซนต์ผมก็คิดว่าเพียงพอแล้ว" โครงการมีกระบวนการคัดเลือกนักเรียนระดับชั้น ป.4-ป.5 เพราะคิดว่าเด็กกลุ่มนี้ยังจะอยู่ในชุมชนไม่ต่ำกว่าสองปี การบ่มเพาะที่ต้องใช้เวลา จึงขยับจากเด็กมัธยมมาเป็นเด็กระดับประถม หากโชคดีเด็กกลุ่มนี้ยังอยู่ในชุมชนถึงมัธยมปลายก็จะกลายเป็นแกนนำเยาวชนต่อไปในอนาคตได้ เมื่อคัดเลือกเด็กได้ประมาณ 50 คน ก็ให้มาอบรมที่โรงเรียนเป็นเวลา 3 วัน เชิญภาคีเครือข่ายเข้ามาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กๆ เช่น สำนักงานป่าไม้ ให้ความรู้ ท่าปอมมีพรรณไม้อะไรบ้าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้นักท่องเที่ยว วิทยาลัยการอาชีพให้ความรู้เรื่อง การเป็นเจ้าภาพที่ดี และภาษาอังกฤษที่ใช้พูดคุยกับนักท่องเที่ยว ส่วนเรื่องประวัติท่าปอม ปลัดรับอาสาบรรยายเอง ร่วมด้วยนายพุฒินันท์ ภูมิภมร ผู้ช่วยนักพัฒนาการท่องเที่ยว (นักถักทอชุมชน)"การเป็นเจ้าบ้านที่ดีเป็นอย่างไร ต้องยืนระยะห่างจากนักท่องเที่ยวเท่าไหร สายตาเราประสานกันอย่างไร การกล่าวทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพื่อต้อนรับ จะวางกิริยาท่าทาง ผายมือย่างไร รวมทั้งกิริยามารยาทต่างๆ ด้วย" วันสุดท้ายเด็กๆ ทุกคนจะได้ลงพื้นที่จริง ให้เด็กแต่ละคนนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวให้เพื่อน ๆ ฟัง ระหว่างนั้นปลัดก็ดูว่าเด็กคนไหนมีแววเด็กจะปั้นให้เป็นมัคคุเทศก์ มีความกล้ามากน้อยแค่ไหน สุดท้ายคัดเลือกเด็กแกนนำ 16 คนเพื่อมาอบรมในระดับเข้มข้นต่อไป และเด็กกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มแรกที่ได้ฝึกฝนตนเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา "..Good Morning everybody. May I introduce myself, my name is Napat Boonnuan.My nickname is Kam. We come from Bannongjik school. Today I will be a junior guide for you. OK, follow me." เสียงทักทายเป็นภาษาอังกฤษของ 4 มัคคุเทศก์น้อย (จาก 16คน) ทั้ง ดช.โอบนิธิ ปราศัยงาม (โออิชิ) ป. 5 โรงเรียนบ้านหนองจิก อายุ 11 ปี ดญ.ณภัทร บุญนวล (แก้ม) ป.4 โรงเรียนบ้านหนอกจิก อายุ 10 ปี ด.ญ.ปรุภานันท์ พวงนุ่น (มาเหรียม) โรงเรียนบ้านหนอกจิก อายุ 12 ปี และ ดช.สิทธิชัย จรเทพ (สอง) โรงเรียนบ้านหนอกจิก อายุ 11 ปี ที่ปลัดฯ ได้พาเราเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวท่าปอมคลองสองน้ำ ทำให้เห็นลีลาการมัคคุเทศก์น้อยที่มีการพูดจาฉะฉาน แววตาสดใส ร่าเริง ที่ต้องเอ่ยชื่นชม เสียงสะท้อนจากน้องๆ อาทิ "น้องแก้ม" บอกว่าเมื่อก่อนอยากเป็นครู แต่พอเข้าโครงการนี้ทำให้อยากเป็นมัคคุเทศก์ และอยากเรียนภาษาอังกฤษให้เก่งๆ ขึ้น ส่วนน้องสองก็บอกว่าทำให้ตนเองได้ความรู้มากมายทั้งประวัติความเป็นของสถานที่ท่องเที่ยว และความรู้เรื่องต้นไม้ ทำให้รู้สึกภูมิใจในตนเอง นี่คือผลผลิตจากการฝึกฝนและบ่มเพาะทุกวันหลังบ่ายสอง ทีมพี่เลี้ยงนักถักทอชุมชน ได้แก่หมาน-อิศราวุธ หมาดลี หัวหน้าสำนักงานปลัด เมย์-ฐิติมา จันทโรทัย นักวิชาการศึกษา กบ-ฉวีวรรณ ดวงเกิด ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และ เอฟ-รัชดา แหลมศักดิ์ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน (ปัจจุบันได้ย้ายไปแล้ว และนายพุฒินันท์ ภูมิภมร ผู้ช่วยนักพัฒนาการท่องเที่ยว มาทำหน้าที่นี้แทน) สลับกันไปรับเด็กๆ จากโรงเรียน แขวนป้ายประจำตำแหน่งที่อบต.ทำให้ ไปยืนต้อนรับนักท่องเที่ยวที่บริเวณทางเข้า เด็กๆ อธิบายการซื้อตั๋ว กฏกติกาข้อห้ามต่างๆ เมื่อนักท่องเที่ยวอยากให้เด็กๆ นำเที่ยวเด็กก็จับคู่กัน พานักท่องเที่ยวเที่ยวชมสถานที่พร้อมเล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่ท่องเที่ยวและพรรณไม้ต่างๆ เมื่อนักท่องเที่ยวถูกใจก็ให้ทิปเป็นกำลังใจ โครงการฯ นี้ เกิดขึ้น หลังจากเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จากการแนะนำของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA "โครงการนี้เราได้ต่อยอดมาจากการเข้าเรียนในหลักสูตรนักถักทอฯ ที่ทำให้เราเกิดความคิดที่เป็นกระบวนการ ทำให้รู้ปัญหาและรู้วิธีการแก้ปัญหาและเข้าไปดำเนินการให้ถูกจุด" หลักสูตรนักถักทอชุมชน เป็นหลักสูตรที่ช่วยพัฒนาเจ้าหน้าที่อปท.ให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน แบบนำชุมชนเป็นตัวตั้งนั่นเอง นี่เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นของการปลุกจิตสำนึกเล็กๆ "รักบ้านเกิด" ให้เกิดขึ้นกับเยาวชนตัวน้อยๆ เพื่อ "สร้างคนเขาคราม" ในอนาคตให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดตนเอง หากชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน ภาครัฐอย่างอบต.เข้มแข็ง ต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าเยาวชนจะกลายมาเป็นพลังชุมชนและไม่ทิ้งถิ่นอย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ