การผลักดันครั้งใหม่ให้ปิดตลาดค้างาช้างในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ในที่ประชุมสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ข่าวทั่วไป Wednesday October 5, 2016 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--WWF -Thailand วันนี้ โลกของเราได้เดินไปสู่ก้าวที่สำคัญในการยุติการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมายและยุติการล่าช้างในทวีปแอฟริกา ณ ที่ประชุมระดับโลกที่ว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า เพื่อเป็นการยกระดับความพยายามในการปิดตลาดค้างาช้างภายในประเทศต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ให้หมดสิ้นไป ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ครั้งที่ 17 เรียกร้องให้ประเทศที่ยังคงมีตลาดค้างาช้างอย่างถูกกฎหมายในประเทศของตน ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้มีการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมาย โดยให้มีการออกกฎหมาย กฏระเบียบ กำหนดมาตรการและการบังคับใช้ที่จำเป็นในการปิดตลาดเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ตลาดค้างาช้างที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้กำหนดขั้นตอนที่สำคัญในการกำหนดมาตรการควบคุมตลาดงาช้างภายในประเทศมาตั้งแต่ต้นปี 2558 และจากรายงานการสำรวจขององค์กรเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) พบว่าจำนวนงาช้างภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ดี กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เชื่อว่ามาตรการในระยะยาวที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยและประเทศผู้อุปโภคงาช้างที่สำคัญอื่น ๆ คือการปิดตลาดค้างาช้างภายในประเทศทั้งหมดและมุ่งการบังคับใช้กฎหมายในการขจัดการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดงาช้างในประเทศที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้และให้คำมั่นในการปิดตลาดงาช้างในประเทศของตน "ในขณะที่จำนวนร้านค้างาช้างและสินค้างาช้างในกรุงเทพลดลงอย่างมากจะเป็นเรื่องดี แต่ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อยุติการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง" จันทร์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการโครงการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า ประจำกองทุนสัตว์ป่าโลกประเทศไทย กล่าว "การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุมใดๆก็ตามที่จะนำมาใช้ในอนาคตต้องคำนึงถึงตลาดอื่น ๆ ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน เช่น ตลาดงาช้างที่เกิดใหม่ในอินเตอร์เน็ต เป็นต้น" จากงานสำรวจอีกชิ้นหนึ่งหนึ่งขององค์การเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) ซึ่งทำการสำรวจการค้างาช้างออนไลน์โดยช่องทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม 2559 ระบุว่ามีผลิตภัณฑ์จากงาช้างอย่างน้อย 2,550 ชิ้น ประกาศขายทางออนไลน์อยู่ในเว็บไซต์จำนวน 42 เว็บไซต์และกลุ่มต่างๆ "ตลาดค้างาช้างในประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยเปลี่ยนจากรูปแบบตลาดที่ไม่มีกฎหมายควบคุม ไปสู่ตลาดที่มีกฎหมายควบคุม แต่รัฐควรมีมาตรการที่ก้าวหน้ามากกว่านั้นเช่นในประเทศจีนและฮ่องกงที่รัฐบาลควรจะประกาศแผนการปิดตลาดค้างาช้างภายในประเทศให้หมดไป" จันทร์ปาย กล่าว "หลายๆประเทศได้กล่าวอย่างชัดเจนและหนักแน่นว่า ตลาดค้างาช้างอย่างถูกกฎหมายต้องไม่เป็นโล่กำบังให้ตลาดการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมายที่เป็นสาเหตุให้จำนวนช้างในทวีปแอฟริกาลดจำนวนลงอีกต่อไป" จีเน็ต เฮมลีย์ หัวหน้าคณะผู้แทนจากกองทุนสัตว์ป่าโลก( WWF) ณ ที่ประชุมที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ CITES กล่าว " ตลาดค้างาช้างภายในประเทศเอื้อให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินำเอางาช้างที่ได้จากการล่ามาฟอกขายปะปนในตลาดที่ถูกกฎหมาย ทำให้ความต้องการของผู้ซื้องาช้างดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอันจะนำไปสู่ภาวะวิกฤติของการล่าช้างเพื่อเอางา ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดงาช้างในประเทศไทย http://wwf.panda.org/wwf_news/?279673/massive-downturn-bangkok-ivory-market

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ