ฟิทช์คงอันดับเครดิต DTAC ที่ 'BBB/AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 21, 2016 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่ 'BBB' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ DTAC ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F1+(tha)' การประกาศคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่คาดว่า DTAC จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่สองของประเทศไว้ได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าสถานะทางการตลาดของบริษัทจะอ่อนแอลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากฟิทช์คาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่จะรุนแรงน้อยลงในปี 2560 นอกจากนี้ DTAC น่าจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC จะยังคงถูกกดดันจากการที่บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในส่วนของบริการด้านเสียง และบริการที่ไม่ใช่เสียง ไปให้กับผู้ประกอบการรายที่สาม ซึ่งได้แก่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการของ DTAC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 25%-26% ในปี 2559 จาก 28.4% ในปี 2558 รายได้ลดลง: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่าย) ของ DTAC จะปรับตัวลดลง 1%-2% ในปี 2559 การเติบโตของรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลที่ยังคงแข็งแกร่ง จะถูกลดทอนด้วยการหดตัวของรายได้จากการให้บริการด้านเสียง ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2559 รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลง 1.9% มาอยู่ที่ 48.7 พันล้านบาท จาก 49.6 พันล้านบาทในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2558 ความเสี่ยงในการย้ายลูกค้า: ฟิทช์คาดว่า DTAC จะเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการย้ายผู้ใช้บริการในระบบ 2G ไปยังระบบใบอนุญาต 3G ในช่วงสองปีข้างหน้า ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2561 นอกจากนี้บริษัทยังจำเป็นต้องลงทุนในคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเติบโตของการให้บริการด้านข้อมูล และทดแทนคลื่นความถี่ภายใต้ระบบสัมปทานที่จะหมดอายุลง ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของการให้บริการ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของการให้บริการ อัตราส่วนกำไรที่ลดลง: EBITDAR margin ของ DTAC น่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 30%-32% ในปี 2559 จาก 33.5% ในปี 2558 ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการตลาดของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง จากการแข่งขันเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ค่าใช้จ่ายที่สูงดังกล่าวอาจลดทอนผลประโยชน์ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory cost) ที่ลดลง จากการให้บริการภายใต้ระบบใบอนุญาต ในปี 2559 อัตราส่วนหนี้สินที่ยังคงสามารถรองรับการลงทุนที่สูง: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอลง และเงินลงทุนที่สูง จะส่งผลให้กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ DTAC ติดลบ และหนี้สินสุทธิและอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Financial Leverage) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2559 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ DTAC ที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบจากกำไรที่ปรับตัวลดลง และการลงทุนที่สูง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ของปี 2559 DTAC มีอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage อยู่ที่ 1.7 เท่า และฟิทช์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2x ณ สิ้นปี 2559 ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องทางด้านการดำเนินงานและด้านกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่าง DTAC กับ Telenor ซึ่งมีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์ กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง สมมุติฐานที่สำคัญ สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - รายได้จากการให้บริการลดลง 2%-3% ในปี 2559 - EBITDAR margin ในปี 2559 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 30%-32% ในปี 2559 - เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 2.0 หมื่นล้านบาทในปี 2559 - จ่ายเงินปันผลในระดับสูงในปี 2559 ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิต - การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง โดยส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการลดลงต่ำกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง - การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท - ความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง ปัจจัยที่อาจส่งให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต - การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน EBITDAR Margin ไปอยู่ในระดับสูงกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ