สพฉ.ประกาศรับสมัครคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 7, 2016 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.ประกาศรับสมัครผู้แทนบุคคลจากกรรมการผู้แทนสถานพยาบาล สถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของเอกชน กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรและมีบทบาทด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงสถานพยาบาลที่เป็นนิติบุคคล เพื่อรับการเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ในคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินพ.ศ.2551 และเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อรับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ดังนี้ 1. กรรมการผู้แทนจากสถานพยาบาลจำนวน 2 คน โดยเป็นตัวแทนจากสถานพยาบาลของรัฐ 1 คนและจากสถานพยาบาลเอกชน 1 คน 2. กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 2 คน 3. กรรมการผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรและมีบทบาทด้านการบริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงสถานพยาบาลที่เป็นนิติบุคคลจำนวน 2 คน โดยผู้ที่จะผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. มีสัญชาติไทย 2. อายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ 3.ไม่เคยถูกลงโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า องค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นสามารถส่งผู้แทนสมัครเข้ารับการเลือกเป็นกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นี้ โดยผู้ที่ส่งเอกสารสมัครทางไปรษณีย์นั้นจะถือตราประทับไปรษณีย์ไม่เกินวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นสำคัญ และจะมีการประชุมเลือกกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560 โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 087-013-1669, 081-835 -1669 , 080-614- 1669 , 091- 576 -1870 หรืออีเมล์paradon.n@niems.go.th , rachaya.k@niems.go.th ,sakuntala.n@niems.go.th โทรสารและสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้จากเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ www.niems.go.th สำหรับคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เสนอแนะ หรือให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคอันเกิดจากการดำเนินงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา กำหนดนโยบายการบริหารงาน เพื่อมุ่งหวังพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการทางการแพทย์ที่ทั่วถึง เท่าเทียม และได้มาตรฐาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ