การศึกษาของกรีนพีซชี้ เรือประมงไทยย้ายไปมหาสมุทรอินเดียเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายประมงที่เข้มงวดขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2016 12:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--กรีนพีซ รายงานการวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนซึ่งใช้ระยะเวลา 12 เดือนของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า เรือประมงนอกน่านน้ำของไทยย้ายไปทำการประมงในน่านน้ำสากลอันห่างไกลเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายประมง การรวบรวมข้อมูลได้เริ่มขึ้น 7 เดือนหลังจากสำนักข่าวเอพีเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงของไทย ข้อค้นพบในรายงานได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าควรมีการยุติการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล "รัฐบาลไทยพยายามที่จะควบคุมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง แต่กองเรือประมงนอกน่านน้ำเหล่านี้ยังคงปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานบนเรือ ผลการวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนของกรีนพีซระบุว่า แทนที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำประมงเพื่อให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย อุตสาหกรรมประมงนอกน่านน้ำของไทยได้ย้ายไปจับปลาในน่านน้ำอันห่างไกลและเป็นเขตทำการประมงที่ไม่มีการควบคุม และตั้งอยู่นอกภูมิภาคแทน" อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว ระหว่างปี 2557-2559 กรีนพีซติดตามกองเรือประมงนอกน่านน้ำสัญชาติไทย และพบว่า หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินีออกกฏหมายประมงที่เข้มงวดมากขึ้น ในเดือนสิงหาคม 2558 กองเรือประมงนอกน่านน้ำสัญชาติไทยรวม 76 ลำ ย้ายฐานการทำประมงไปยังเขตทะเลน้ำตื้นแนวไหล่ทวีปที่มีระบบนิเวศเปราะบางที่เรียกว่า ซายา เดอ มัลฮา (Saya de Malha Bank) ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ห่างจากจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยราว 7,000 กิโลเมตร การทำประมงในเขต ซายา เดอ มัลฮา ที่ต้องอาศัยเรือแม่(reefer) เดินทางกว่า 7,000 กิโลเมตร เพื่อขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลนั้นถือเป็นแบบจำลองธุรกิจประมงนอกน่านน้ำของไทย แบบจำลองธุรกิจนี้จะช่วยให้เรือประมงลอยลำเพื่อทำประมงกลางทะเลและอยู่ห่างไกลจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ โดยดำเนินการนอกกรอบกฎหมาย เรือแม่จะทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารและบางครั้งยังมีการส่งแรงงานบังคับที่มาจากการค้ามนุษย์อีกด้วย นอกจากนี้ยังรับสัตว์ทะเลจากเรือประมง ซึ่งบางครั้งพบว่ามีสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) โดยมากกว่าร้อยละ 50 เป็นฉลาม[2]/[3] "กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์บนเรือประมงเป็นเรื่องที่ตื่นตระหนก เพราะไทยเป็นประเทศที่สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมประมงมากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยแรงงานยังต้องทำงานหนัก ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะได้รับตามกฎหมายกำหนด"สมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าว "นานเกินไปแล้วที่เจ้าของเรือประมงและ บริษัทผู้ผลิตอาหารทะเล ได้ดำเนินธุรกิจที่ผิดจรรยาบรรณ" ในรายงาน "พลิกวิกฤต:การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย" แสดงให้เห็นว่าการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการจ่ายค่าตอบแทนต่ำให้กับแรงงานข้ามชาติ สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่ากลัว เช่นการเกิดขึ้นของโรคเบอริเบอริ(beriberi)[4] ผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการพบผู้เสียชีวิต 6 รายจากโรคเบอริเบอริ โดยผลการวินิฉัยการเสียชีวิตพบว่าเกิดจากอาการหัวใจล้มเหลวที่มีสาเหตุจากโภชนาการต่ำ ทำงานหนัก และการทำงานกลางทะเลโดยไม่ได้กลับเข้าฝั่งเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล [5]/[6] นอกจากนี้ กรีนพีซได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ 15 คน เกือบครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์การถูกทารุณบนเรือประมง หนึ่งในสาเหตุหลักที่พวกเขาถูกทำร้ายร่างกายคือเมื่อเขาทำงานไม่ไหวเนื่องจากเจ็บป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการขาดแคลนอาหารบนเรือและอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ลูกเรือพยายามแอบหลบเพื่อที่จะหยุดพักเนื่องจากต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน "ภาคประชาสังคมและผู้บริโภคอาหารทะเล ต้องทำหน้าที่ปกป้องแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ และเราต้องเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมประมงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง "จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม แห่งประเทศไทย กล่าว "ผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งมีอำนาจควบคุมอุตสาหกรรมประมงที่มีมูลค่ามากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ สูญเสียความน่าเชื่อถือในเรื่องความจริงใจที่จะประกอบธุรกิจแนวใหม่ที่มีความยั่งยืนและมีจรรยาบรรณ กรีนพีซและหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรทางด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามกฏระเบียบ อันจะทำให้อุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเลมีความยั่งยืนและอยู่รอดได้ในระยะยาว" อัญชลี กล่าวเสริม การวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนของกรีนพีซในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ซูริมิที่มีส่วนเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน [7] ได้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของผลิตภัณฑ์อาหารทะเล และไม่ใช่อาหารทะเลในปี 2559 ซึ่งรวมถึงวัตถุดิบส่งออกสำหรับทำซูชิและอาหารสัตว์ที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วโลก กรีนพีซเรียกร้องให้เพิ่มการควบคุมมากขึ้น รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญในการที่จะขจัดความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆในอุตสาหกรรมประมงไทย เช่น ให้มีการยกเลิกการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลที่ครอบคลุมกองเรือประมงนอกน่านน้ำ และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและการบังคับใช้มาตรการจากรัฐบาลเพื่อรับประกันว่าอาหารทะเลของไทยบนชั้นวางสินค้า ตู้แช่ ร้านซูชิ และอาหารแมวในทั่วโลก มาจากทำประมงที่ยั่งยืน และมีจริยธรรม หมายเหตุ [1] บทสรุปรายงาน "พลิกวิกฤต:การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย"สามารถดาวน์โหลดได้ที่www.greenpeace.or.th/turnthetide รายงานฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.greenpeace.org/seasia/Press-Centre/publications/Turn-The-Tide [2] การสัมภาษณ์กลุ่มผู้รอดชีวิตชาวกัมพูชา 15 คนจากการค้ามนุษย์ที่จังหวัดระนอง เดือนเมษายน 2559 [3] Murua, H. et al (2013) Provision of scientific advice for the purpose of the implementation of the EUPOA sharks http://ec.europa.eu/fisheries/documentation/studies/sharks/scientific-advice-sharks_en.pdf [4]Beriberi เป็นโรคที่เป็นผลมาจากการขาดวิตามินบีในร่างกาย (วิตามิน บี1) รวมถึงอาการบวมของแขน สูญเสียความรู้สึก เป็นเป็นอัมพาต กล้ามเนื้อลีบ หายใจถี่ และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว [5] คำสัมภาษณ์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรุงเทพฯ เดือนมิถุนายน 2559 [6] Centre for Disease Control, Thailand (2016) การสอบสวนลูกเรือประมงเสียชีวิตจากภาวะขาดวิตามินบี1 จังหวัดระนอง มกราคม 2559 http://rohed-center.com/1%20new%20website/Home/work/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%87/2case%20study%20BeriBeri_Ranong.pdf [7] ซูริมิทำมาจากเนื้อปลา ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคในหลายรูปแบบทั่วภูมิภาคเอเชียและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ในรูปแบบของ "ปูอัด" ซึ่งถูกใช้เป็นส่วนผสมในซูชิ ทอดมัน และอาหารสัตว์ [8] บริษัทแปซิฟิค มารีน ฟู๊ด โปรดักส์ จำกัด เขียนจดหมายตอบกลับกรีนพีซ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ