จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 1/2560

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday January 11, 2017 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--กสทช. ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 1/2560 วันพุธที่ 11 มกราคม 2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาคือ เรื่องทบทวนมติการกำกับอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีและพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เรื่องพิจารณาผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz และเรื่องร่างประกาศมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง วาระทบทวนมติการกำกับอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีและพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาทบทวนมติครั้งที่ 10/2559 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย พร้อมทั้งเตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นย่าน 2.1 GHz 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมฯ เมื่อครั้งที่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับบริการเสียงและบริการข้อมูลโดยเฉลี่ยแล้วต้องต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz รวมทั้งจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ต่อมาคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงเลขาธิการ กสทช. เพื่อทวงถามในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า การเรียกเก็บค่าบริการเป็นวินาทีเป็นวิธีการคำนวณค่าบริการที่เป็นธรรมและสามารถทำได้จริง และ เพื่อให้การดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อประชาชนในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ และเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคที่จะได้ใช้บริการโทรศัพท์โดยมีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที อีกทั้งสำนักงาน กสทช. ยังได้นำเสนอข่าวต่อสื่อมวลชนว่าอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีอีกด้วย ในการนี้ คณะกรรมาธิการฯ จึงขอทราบความคืบหน้าของการดำเนินการ และขอได้โปรดเร่งรัดให้มีการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบโดยเร็ว ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมมีมติกำหนดให้ผู้ให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นย่าน 2.1 GHz 1800 MHz และ 900 MHz ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ถัดมาในการประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการของคณะทำงานฯ ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ กล่าวคือ อัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย รวมถึงอัตราค่าบริการส่วนเกิน และรายการส่งเสริมการขายประเภทบริการ (on top) ของผู้รับใบอนุญาตบนคลื่น 2.1 GHz 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องไม่เกินอัตราอ้างอิงที่กำหนด โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องระบุอัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการไว้ในเงื่อนไขรายการส่งเสริมการขาย และระบุคลื่นความถี่ที่ใช้ในการให้บริการควบคู่ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินใจก่อนเลือกใช้รายการส่งเสริมการขายนั้นๆ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตจะต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีบนคลื่นย่าน 2.1 GHz ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ด้วย อย่างไรก็ดี ภายหลังสำนักงาน กสทช. ได้จัดประชุมหารือกลุ่มย่อย (Focus Group) เรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งในเวลาต่อมา ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการ โดยมี กสทช. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 29/2559 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 สำนักงาน กสทช. ได้นำผลการศึกษาของคณะทำงานฯ เสนอ กทค. เพื่อพิจารณา โดยผลการศึกษาดังกล่าวเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในลักษณะเดิม เพียงแต่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ลดระดับการกำกับดูแลลง ว่าให้มีรายการส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่อัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการต้องไม่เกินอัตราอ้างอิง ส่วนแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีนั้น ก็มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันคือ ให้ผู้รับใบอนุญาตต้องมีรายการส่งเสริมการขายและบริการเสริมไม่น้อยกว่าครึ่งที่คิดค่าบริการประเภทเสียงเป็นวินาทีและบริการอินเทอร์เน็ตเป็น KB อย่างไรก็ตาม แนวทางของคณะทำงานฯ ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอนั้น ขัดกับมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ซึ่งกำหนดให้บังคับผู้รับใบอนุญาตจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมีการเสนอขอทบทวนมติ ซึ่งในการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ก็ได้จัดทำวาระเสนอที่ประชุมพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการใหม่ที่จะบังคับใช้กับรายการส่งเสริมการขายและบริการเสริมในตลาดเพียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่บังคับใช้กับทุกรายการส่งเสริมการขายและทุกบริการเสริมดังเช่นแนวทางเดิม วาระนี้เป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องการวางกติกาในการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปในอนาคต ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยตรง อีกทั้งในแง่ของการทบทวนมติยังมีประเด็นข้อท้าทายทางกฎหมายอยู่ด้วย วาระพิจารณาผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz วาระผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการช่วงประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น ตามที่ กทค. ได้เคยมีมติที่ประชุมครั้งที่ 22/2559 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ให้สำนักงาน กสทช. นำส่งผลการพิจารณาของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งความเห็นของสำนักงาน กสทช. โดยเลขาธิการ กสทช. ที่มีความเห็นแตกต่างจากคณะทำงานฯ ให้กระทรวงการคลังและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาให้ความเห็น โดยขณะนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้มีหนังสือตอบกลับมายังสำนักงาน กสทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบเงินรายได้ของคณะทำงานฯ มีความแตกต่างกับความเห็นของเลขาธิการ กสทช. โดยสรุปคร่าวๆ คือ ตามแนวทางของคณะทำงานฯ กรณีที่ยังไม่หักค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม พบว่า บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจำนวน 13,989.24 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจำนวน 879.59 ล้านบาท รวม 14,868.83 ล้านบาท ส่วนค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสทฯ คณะทำงานเห็นว่า บจ. ทรู มูฟ ต้องชำระให้กับ บมจ. กสทฯ จำนวน 1.875 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องชำระให้กับ บมจ. กสทฯ จำนวน 0.425 ล้านบาท ขณะที่ผลการตรวจสอบรายได้โดยเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 2,153.24 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสทฯ จำนวน 645.97 ล้านบาท สรุปมียอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐจำนวน 1,507.27 ล้านบาทเท่านั้น ส่วน บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจำนวน 1,049.17 ล้านบาท เป็นค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสทฯ จำนวน 314.75 ล้านบาท สรุปแล้วจึงมียอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐจำนวน 734.42 ล้านบาท ดังนั้นผลการตรวจสอบเงินรายได้ของคณะทำงานฯ กับเลขาธิการ กสทช. จึงมีมูลค่าต่างกันราว 11,000 ล้านบาท สำหรับความเห็นของกระทรวงการคลัง หนังสือลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ระบุว่า หลักเกณฑ์การตรวจสอบของคณะทำงานฯ เป็นหลักการที่สามารถยอมรับได้และเป็นธรรมกับผู้ให้บริการทุกราย สำหรับเกณฑ์ปันส่วนค่าใช้จ่ายรายการต่างๆ นั้นเป็นไปตามหลักการทางบัญชีที่สามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ กทค. มีความเห็นไม่สอดคล้องกับคณะทำงานฯ อยู่ในดุลยพินิจของ กทค. ที่จะพิจารณาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเห็นว่า สำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการกำกับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามประกาศ กสทช. อย่างเคร่งครัด รวมถึงมีบทลงโทษกรณีที่ผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามประกาศของ กสทช. ส่วนความเห็นของ สตง. หนังสือลงวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ระบุว่า จำนวนเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินว่าควรเป็นเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่คณะทำงานฯ จะได้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เป็นธรรมต่อไป ในชั้นนี้ สตง. ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ ทั้งนี้จะได้พิจารณาการตรวจสอบความถูกต้องของเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในการตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินของสำนักงาน กสทช. ต่อไป อย่างไรก็ดี สตง. ได้ตั้งข้อสังเกตให้ กทค. พิจารณาใน 4 ประเด็นด้วย คือ 1) ในการพิจารณาตรวจสอบรายได้จากการให้บริการ ขอให้ตรวจสอบประเด็นที่บริษัทผู้รับสัมปทานมีการโอนย้ายเลขหมายผู้ใช้บริการจากโครงข่ายที่ได้รับสัมปทานไปยังโครงข่าย 2.1 GHz ของบริษัทย่อยของผู้รับสัมปทานโดยไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ด้วย ซึ่งการโอนย้ายเลขหมายไปอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการที่ บจ. ทรู มูฟ ส่งให้ตรวจสอบอาจเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้อง โดยเป็นจำนวนรายได้ที่อาจต่ำไปจำนวนมากอย่างมีสาระสำคัญ 2) ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ กำหนดให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินแทนโดยแยกบัญชีการรับเงินไว้เป็นการเฉพาะ สตง. มีความเห็นว่าการที่ผู้ให้บริการไม่ได้แยกบัญชีเป็นการเฉพาะ เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้ยากต่อการตรวจสอบ และไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ มาเป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ควรต้องพิจารณาว่าควรมีบทลงโทษต่อบริษัทหรือไม่ 3) ผลจากการที่ บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน ไม่ได้แยกบัญชีการรับเงินไว้เป็นการเฉพาะตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ทำให้ไม่มีการรายงานดอกผลที่เกิดขึ้น ซึ่ง สตง. เห็นว่า เงินรายได้ที่ต้องนำส่งมีจำนวนสูง ดอกผลที่เกิดขึ้นย่อมสูงด้วยเช่นกัน จึงขอให้คณะทำงานฯ พิจารณาเรียกเก็บรายได้ในส่วนของดอกผลที่เกิดจากรายได้ดังกล่าวด้วย 4) รายงานรายได้และค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้บริการแจ้งมานั้น ได้มีการกำหนดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบหรือไม่ และมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หากไม่ได้กำหนดให้มีผู้สอบบัญชีไว้ คณะทำงานฯ ควรกำหนดแนวทางเพื่อให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นก่อนที่จะนำข้อมูลมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่อไป สำหรับวาระผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้เคยเสนอผลตรวจสอบเงินนำส่งรายได้จากการให้บริการของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ตามแนวทางที่คณะทำงานฯ ศึกษา ให้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 27/2559 พิจารณา แต่ที่ประชุมมีความเห็นให้ถอนเรื่องออกจากวาระการพิจารณา เพื่อให้สำนักงาน กสทช. นำกลับไปคำนวณเงินรายได้ใหม่ตามแนวทางที่ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2559 ได้เคยพิจารณาในกรณีของการให้บริการบนคลื่นย่าน 1800 MHz ซึ่งในการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามความเห็นของที่ประชุม กทค. ดังกล่าวแล้ว และเตรียมเสนอผลการตรวจสอบเงินรายได้ตามแนวทางของคณะทำงานฯ ให้ กทค. พิจารณาควบคู่กับแนวทางการพิจารณาของมติ กทค. ครั้งที่ 22/2559 โดยผลการตรวจสอบเงินรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. ทีโอที ตามแนวทางของคณะทำงานฯ ระบุให้บริษัทฯ ต้องนำส่งเงินรายได้จำนวน 7,221.00 ล้านบาท ส่วนตัวเลขที่เลขาธิการ กสทช. พิจารณาตามแนวทางการพิจารณาของมติ กทค. ครั้งที่ 22/2559 ยังคงอยู่ในชั้นความลับ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ยังไม่เปิดเผย อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาวาระนี้ของ กทค. คงจำเป็นต้องหยิบยกความเห็นของ สตง. ที่ตั้งข้อสังเกตต่อผลการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินในกรณีคลื่นย่าน 1800 MHz มาพิจารณาประกอบด้วย วาระร่างประกาศเรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง วาระนี้สืบเนื่องจากในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่เนื่องจากก่อนหน้าการประชุม มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 4 ราย ได้มีหนังสือขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กทค. ที่เห็นชอบร่างประกาศฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมชั้น กสทช. จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อมูลในประเด็นที่มีการคัดค้านและวิเคราะห์เพิ่มเติม วาระนี้น่าสนใจที่ร่างประกาศฉบับนี้เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาตั้งแต่ปลายปี 2557 หลังจากนั้นมีการตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาปรับปรุงร่างประกาศ ซึ่งมีการจัดประชุมกันถึง 9 ครั้ง และจัดประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอีก 2 ครั้ง อีกทั้งในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2559 สำนักงาน กสทช. ก็ยืนยันกับที่ประชุมแล้วว่า เนื้อหาที่ผู้ประกอบกิจการโต้แย้งมาล้วนเป็นประเด็นที่คณะทำงานได้พิจารณาและศึกษามาหมดแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี เมื่อ กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม ปรากฏว่าภายหลังที่สำนักงาน กสทช. จัดประชุมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อหารือถึงข้อคิดเห็น กลับจัดทำวาระเสนอต่อที่ประชุม กทค. ในครั้งนี้ว่า ขอให้ที่ประชุมพิจารณาควบรวมประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง และประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันสำนักงาน กสทช. อยู่ในระหว่างดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศเรื่องคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม โดยอ้างว่าในการปรับปรุงร่างประกาศมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง จำเป็นต้องดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ระยะเวลาในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ จะเทียบเคียงได้กับการดำเนินการยกร่างประกาศฉบับใหม่ ขณะเดียวกันในวาระที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอมาดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปตามมติ กสทช. ครั้งที่ 6/2559 กล่าวคือไม่ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงของเหตุจำเป็นว่าหลักเกณฑ์กำกับมาตรฐานใดเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ผู้ประกอบกิจการไม่สามารถปฏิบัติได้ หากแต่เป็นเพียงนำเสนอความเห็นของผู้ประกอบกิจการให้ กทค. รับทราบเท่านั้น แน่นอนว่าสิ่งที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินการอยู่นี้ จะด้วยเจตนาหรือไม่ แต่เป็นเหมือนการล้มกระดาน เพราะแทนที่สำนักงาน กสทช. จะวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และหากพบว่าหลักเกณฑ์ใดเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ประกอบกิจการไม่สามารถปฏิบัติ ก็ปรับปรุงแก้ไขเฉพาะหลักเกณฑ์นั้นให้เกิดความเหมาะสม แต่สำนักงาน กสทช. กลับเลือกใช้วิธีการตั้งต้นกระบวนการใหม่ ก็เท่ากับว่าสิ่งที่ดำเนินการมากกว่า 2 ปีนั้นสูญเปล่า ขณะที่การปรับปรุงกติกาเพื่อกำกับดูแลมาตรฐานของคุณภาพบริการโทรคมนาคมประเภทเสียงก็ต้องล่าช้าออกไปอีก ซึ่งมีผลให้เกณฑ์มาตรฐานหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เช่น เรื่องการกำหนดระยะเวลาที่ผู้ใช้บริการต้องรอสายภายหลังกดเลือกสนทนากับพนักงานรับโทรศัพท์ว่าต้องไม่เกิน 30 วินาที เรื่องข้อกำหนดการเผยแพร่ข้อมูลผลการวัดคุณภาพบริการผ่านทางเว็บไซต์ เรื่องการกำหนดมาตรฐานของคุณภาพบริการเฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นเป็นพิเศษ เช่นสถานีขนส่งมวลชนหมอชิต เป็นต้น
แท็ก คมนาคม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ