ผลสำรวจเคพีเอ็มจีเผย ผู้บริหารยังขาดความเชื่อมั่นต่อข้อมูลเชิงลึกที่เป็นผลลัพธ์จากข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 18, 2017 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--เคพีเอ็มจี • เคพีเอ็มจีได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับธุรกิจในปัจจุบัน ว่ามีการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดการกับความเสี่ยง ต้นทุน การเจริญเติบโตของธุรกิจ ตลอดจนมีส่วนช่วยในการตัดสินใจในเรื่องที่ไม่มั่นใจอย่างไร • ความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัดในการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ จริยธรรม และความยืดหยุ่น นำไปสู่วงจรของการขาดความเชื่อมั่น • จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ เผยว่า ผู้บริหารระดับสูงสุด (C-Level) ไม่ให้การสนับสนุนกลยุทธ์ในด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลขององค์กรเท่าที่ควร การเติบโตอย่างรวดเร็วของข้อมูลดิจิตอลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้มีองค์กรจำนวนมากขึ้นที่เข้าใจถึงประโยชน์ของข้อมูลจำนวนมหาศาลที่หน่วยงานของตนเก็บรักษาไว้ หากองค์กรสามารถทำการวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน และบอกถึงสัญญาณเตือนภัยเบื้องต้น (red flags) ต่อความผิดปกติของรายการทางบัญชี การทุจริต และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบได้ เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์มากมายเหล่านี้ เหตุใดผู้บริหารในหลายๆ องค์กรถึงยังลังเลที่จะเชื่อถือผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัท? ผลสำรวจล่าสุดของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชันแนล พบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่เห็นคุณค่าของการใช้ข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล อย่างไรก็ดีพวกเขายังขาดความเชื่อมั่นในการวัดประสิทธิภาพและผลกระทบของข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งยังไม่มั่นใจที่จะนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ สำหรับรายงาน "Building Trust in Analytics" นี้ เคพีเอ็มจีได้ให้บริษัท Forrester Consulting ทำการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,165 คน จาก 10 ประเทศ เพื่อชี้ว่าธุรกิจมีการนำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลไปใช้อย่างไร รวมถึงระดับของความไม่มั่นใจของพวกเขาที่มีต่อรูปแบบและกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่นำไปช่วยในการตัดสินใจ รายงานดังกล่าวนี้เผยถึงข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการและการกำกับดูแลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้หลักสี่ประการของเคพีเอ็มจี (KPMG's four anchors of trust) เป็นกรอบในการประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพ จริยธรรม และความยืดหยุ่น จากผลสำรวจ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับ ผลการดำเนินงานของธุรกิจ การตรวจจับการทุจริต การบริหารกลยุทธ์และการบริหารเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้าใจถึงการบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ และการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบต่างๆ กระนั้นแล้ว ผู้บริหารก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาได้บริหารจัดการกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังขาดเครื่องมือในการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมอีกด้วย Christian Rast กรรมการบริหาร Global Head of D&A เคพีเอ็มจี เยอรมัน กล่าวว่า "การวิเคราะห์ข้อมูลมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อการตัดสินใจและมีผลกระทบต่อทั้งตัวบุคคล ธุรกิจ และสังคม จึงจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องมุ่งเน้นในการเพิ่มความเชื่อมั่นต่อข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการควบคุมเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ โดยองค์กรที่ยังลงทุนในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยไม่ได้ประเมินถึงประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ข้อมูล ย่อมส่งผลให้มีการตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดวงจรของความไม่มั่นใจในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล" ความเชื่อมั่นระดับต่ำในการวิเคราะห์ข้อมูล อาจเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงและถ่ายทอดต่อไปตามสายงานขององค์กร เกือบครึ่งหนึ่งของผลสำรวจมีความเชื่อมั่นในข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์ข้อมูลในด้าน ความเสี่ยงและความปลอดภัย (43 เปอร์เซ็นต์) และข้อมูลลูกค้า (38 เปอร์เซ็นต์) โดยมีเพียงหนึ่งในสามของผลสำรวจที่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึกในด้านกระบวนการทำงานขององค์กร (34 เปอร์เซ็นต์) Bill Nowcki กรรมการผู้จัดการด้าน Decision Science เคพีเอ็มจี อเมริกา กล่าวว่า "กระบวนการตัดสินใจในรูปแบบเดิมที่มีพื้นฐานจากความคิดเห็นส่วนบุคคล หากมีการนำข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยประกอบการตัดสินใจ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะส่งผลให้องค์กรสามารถให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจ ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริหารที่มีต่อการวิเคราะห์ข้อมูลไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะเป็นนัก โดยเฉพาะถ้าคำนึงถึงเงินลงทุนที่องค์กรต่างๆ วางแผนที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการจากการวิเคราะห์ข้อมูล" ผลวิจัยชี้ว่า ความเชื่อมั่นระดับต่ำในการวิเคราะห์ข้อมูล อาจเริ่มมาจากผู้บริหารระดับสูงและถ่ายทอดต่อไปตามสายงานขององค์กร เกือบครึ่งของผลสำรวจพบว่า ผู้บริหารระดับสูง (C level) ไม่สนับสนุนกลยุทธ์ในการนำข้อมูลขององค์กรมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเต็มที่ โดยระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำนี้ ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงขาดความมั่นใจในข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอาจมีส่วนมาจากความซับซ้อนในกระบวนการวิเคราะห์ Brad Fisher กรรมการบริหาร และผู้นำด้าน D&A เคพีเอ็มจี อเมริกา เผยว่า "หลักสำคัญที่จะเอาชนะความเชื่อในอดีต ที่ว่าระบบการตัดสินใจแบบเดิมๆ ให้ความน่าเชื่อถือได้มากกว่า คือ การยึดหลักความโปร่งใสต่อการนำข้อมูลเชิงลึกมาใช้และแสดงผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน" Douglas Webb กรรมการผู้บริหารด้านที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า "ความไม่มั่นใจในข้อมูลมักจะเริ่มต้นที่กระบวนการเลือกข้อมูลที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ หลายองค์กรไม่ได้ตระหนักถึงข้อมูลปริมาณมหาศาลที่หน่วยงานของตนมีอยู่แล้วในระบบ" Douglas Webb กล่าว "ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งที่ข้อมูลมักถูกเก็บอยู่ในระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน และจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรในการเตรียมข้อมูลให้สมบูรณ์ และทำการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ต่างกันเพื่อให้สามารถทำการวิเคราะห์ในเชิงลึกได้ โดยองค์กรมักจะประเมินเวลาสำหรับกระบวนการเหล่านี้ไว้ต่ำเกินไป อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรสามารถระบุถึงปัญหาและจัดการกับกระบวนการเตรียมข้อมูลได้แล้ว จะสามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างคุ้มค่าและแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด" Douglas Webb กล่าวเสริม Douglas Webb กล่าวต่อไปอีกว่า "ยกตัวอย่างเช่น การพยายามหารายการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อโดยการใช้วิธีการสุ่มตรวจสอบ เปรียบเสมือนการงมเข็มในมหาสมุทร และจะมีความซับซ้อนมากขึ้นถ้าองค์กรใช้ระบบปฏิบัติการหลายระบบ หรือมีรายการที่ไม่ได้ถูกบันทึกในระบบ การนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางการลงทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการตรวจสอบรายการทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการแบบเดิมๆ แบบการสุ่มตรวจสอบเพียงไม่กี่รายการ" หลักสี่ประการของเคพีเอ็มจี ในการบริหารความเชื่อมั่นต่อกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล หากพิจารณาผลการสำรวจในรายละเอียดแยกตามกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล ความเชื่อมั่นต่อการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับสูงสุดจะอยู่ที่ขั้นตอนแรก คือ กระบวนการจัดหาข้อมูล (Data Sourcing) และลดลงในกระบวนการต่อๆ ไป จากผลสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามมีความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดหาข้อมูลมากที่สุด ซึ่งเป็นกระบวนการกำหนดข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ ผู้ตอบแบบสอบถามมีความมั่นใจในกระบวนการที่สอง คือกระบวนการวิเคราะห์ (Analysis/Modeling) คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ และกระบวนการที่ 3 คือ การเตรียมข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูล (Data preparation and Blending) คิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ความมั่นใจของผู้ตอบแบบสอบถามลดลงอย่างมากในกระบวนการที่ 4 และ 5 ของวงจรการวิเคราะห์ข้อมูล มีเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ที่มีความเชื่อมั่นสูงสุดในกระบวนการใช้ผลจากการวิเคราะห์ (Use/Deploying Analytics) และ 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายมีความเชื่อมั่นสูงสุดต่อการวัดประสิทธิภาพของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Measuring the effectiveness) Brad Fisher กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "การที่องค์กรไม่มีความเชื่อมั่นต่อข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและท้าทายมาก หากองค์กรเพียงแค่ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนนั้น ไม่นับว่าเพียงพอ เราจะต้องผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นในข้อมูล เพื่อสร้างมูลค่า องค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับเรื่องนี้ โดยพยายามวางแผนกระบวนการทำงานและตัวชี้วัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมากที่สุด" ในการประเมินว่าองค์กรยังขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการใดในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ตอบแบบสอบถามได้ประเมินกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลองค์กรของตนในแต่ละด้าน ตามหลักสี่ประการของเคพีเอ็มจี ได้แก่ คุณภาพ ประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และความยืดหยุ่น 1. คุณภาพ – แน่ใจว่าข้อมูลที่ใช้และกระบวนการในการวิเคราะห์ข้อมูลมีคุณภาพตามมาตรฐาน และเหมาะสมกับความต้องการที่จะนำผลลัพธ์ไปใช้งาน ข้อสังเกต: แม้ผลสำรวจก่อนหน้านี้จะแสดงว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความเชื่อมั่นสูงสุดในขั้นตอนแรกของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล คือ กระบวนการจัดหาข้อมูล (Data Sourcing) แต่ผลสำรวจนี้กลับพบว่า มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่ากระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลโดยรวมขององค์กรมีคุณภาพตามมาตรฐาน 2. ประสิทธิภาพ – ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปตามที่ต้องการและก่อให้เกิดมูลค่า ข้อสังเกต: ผลสำรวจแสดงว่าผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 16 เปอร์เซ็นต์มีความมั่นใจต่อความถูกต้องของผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล 3. จรรยาบรรณและความถูกต้อง – การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นกระบวนการที่ยอมรับได้ เป็นไปตามกฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลส่วนตัว และประเด็นต่างๆ ทางด้านจริยธรรม ข้อสังเกต: แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะมองว่ากระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลของตนเป็นไปตามกฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับมองว่าองค์กรยังทำได้ไม่ดีนักในด้านการรักษาข้อมูลส่วนตัว และด้านจริยธรรมในการใช้งานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล มีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่าองค์กรของตนทำได้ดีในกระบวนการนี้ 4. ความยืดหยุ่น – การเพิ่มประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ข้อมูล กระบวนการ และวิธีการในระยะยาว รวมไปถึงกรอบการกำกับดูแล สิทธิการเข้าถึง และความปลอดภัย ข้อสังเกต มีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามที่กล่าวว่าพวกเขามีกรอบการทำงานที่เหมาะสมในการกำกับดูแลกระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเสนอแนะ Mr. Rast กล่าวว่า "เคพีเอ็มจีมีข้อแนะนำเพื่อช่วยองค์กรในการพัฒนาความเชื่อมั่นต่อกระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งประกอบไปด้วย ส่วนสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1) การประเมินเพื่อระบุถึงกระบวนการที่ยังขาดความเชื่อมั่น 2) การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ 3) การสร้างความตระหนักเพื่อเพิ่มการทำงานร่วมกันภายในองค์กร 4) การพัฒนาวัฒนธรรมภายในเพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ 5) การสร้างความโปร่งใสต่อกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล 6) การเพิ่มมุมมองให้เป็น 360 องศาโดยใช้หลักการระบบนิเวศ 7) การจำลองนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความคิดใหม่ๆ และรักษาความสามารถในการแข่งขัน Mr. Rast กล่าวเพิ่มเติมว่า "องค์กรที่เป็นผู้นำในการวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประเด็นสำคัญในลำดับต้นๆ และการจะพัฒนาไปเป็นองค์กรที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อพร้อมกับการแข่งขัน ผู้บริหารจะต้องจัดการกับกระบวนการที่ซับซ้อน ระบบ การปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมาย และการกำกับดูแล เพื่อที่จะสามารถพาองค์กรไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและมั่นคง"
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ